" การตักบาตรแบบถูกวิธีจะได้บุญมาก "

การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ ผู้ให้ต้องเตรียมใจให้พร้อม ก่อนถวาย ขณะถวาย หลังถวาย ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย และสิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน http://winne.ws/n10814

7.4 หมื่น ผู้เข้าชม
" การตักบาตรแบบถูกวิธีจะได้บุญมาก "แหล่งภาพจาก BlogGang.com

            การตักบาตร เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธทั่วไปรู้จัก และปฏิบัติมากกว่าการทำบุญประเภทอื่นๆ การตักบาตรนั้นยังถือว่าเป็นการทำบุญประจำวันของชาวพุทธ และชาวพุทธไทยเชื่อว่า การออกบิณฑบาตของพระสงฆ์เป็นการช่วยโปรดสัตว์ที่อยู่ในอบายภูมิ เช่น เปรตวิสัย ให้ได้รับส่วนบุญ ด้วยเหตุผลทางจิรยธรรม ในการทำบุญตักบาตรนั้น

พอสรุปได้ดังนี้

          ๑. เป็นการสั่งสมบุญในแต่ละวัน เพราะการสั่งสมเป็นเหตุนำความสุขมาให้

          ๒. เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำบุญทำให้จิตใจแจ่มใส เพื่อให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง เพราะผู้ที่ไม่มีบุญเกื้อหนุนอยู่ในใจ ย่อมพ่ายแพ้ต่อบาปได้ง่าย

          ๓. เป็นการทำที่พึ่งคือบุญให้แก่ตนเองในอนาคตถ

          ๔. เป็นการช่วยรักษาพุทธประเพณี เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ล้วนแต่ดำรงพระชนม์ชีพด้วยอาหารบิณฑบาต

          ๕. เป็นการช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ศึกษา ปฏิบัติพระธรรมวินัย แล้วนำมาสั่งสอนให้ประชาชนได้รับรสแห่งพระธรรมด้วย อีกทั้งยังดำรงตนเป็นตัวอย่างด้านความประพฤติดีงามของสังคม ฉะนั้น ชาวพุทธควรทำบุญตักบาตรเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นการสั่งสมบุญให้แก่ตนเองที่จะต้องนำไป ดุจเสบียงเดินทาง ในการท่องเที่ยวเวียนเกิดและเวียนตายอยู่ในวัฏฏสงสาร อันไม่ปรากฏเบื้องต้นและที่สุด และบุญที่สั่งสมไว้นี้ จะช่วยเกื้อกูลให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

          อนึ่ง ประโยชน์ส่วนรวมที่จะเกิดขึ้น คือเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของพุทธบริษัท ที่เป็นฐานกำลังสำคัญแห่งกองทัพธรรมนั้น ท่านดำรงชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัยที่คฤหัสถ์จัดถวาย ท่านจึงสามารถมีกำลังกาย กำลังใจที่จะศึกษาพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ให้เข้าใจ ทรงจำ นำมาประพฤติปฏิบัติ และกล่าวสอนมวลมนุษย์ได้

" การตักบาตรแบบถูกวิธีจะได้บุญมาก "แหล่งภาพจาก clearmai.blogspot.com

การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

          ๑. ต้องเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย ท่านแนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ
               ๑.๑ ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง
               ๑.๒ ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
               ๑.๓ หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว  การทำใจให้ได้ทั้ง ๓ ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้

          ๒. ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน พระพุทธพจน์ ทรงจำ นำมาบอกกล่าว สั่งสอนได้ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้อย่างสิ้นเชิง

          ๓. สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบีดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือสิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย

ทำบุญตักบาตรให้หมั่นอธิษฐาน

          เมื่อองค์ประกอบ ๓ อย่างข้างต้นบริบูรณ์ สิ่งที่จะต้องทำก่อนตักบาตร คือ "การอธิษฐาน" การอธิษฐานนี้นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้บุญของเราหนักแน่น ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขี้น และยังทำให้เราทราบเป้าหมายในการทำบุญด้วย นอกจากนี้ การอธิษฐานยังสามารภสร้างพลังขึ้นในจิตใจให้มากขึ้น เป็นการสั่งสมกำลังแห่งความบากบั่น อดทน เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้เราก้าวไปสู่สิ่งที่ปรารถนาได้ การอธิษฐานในขณะที่บำเพ็ญบุญนั้น ผลบุญย่อมหนุนส่งให้สำเร็จตามที่ปรารถนาไว้ ถึงแม้จะขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสบ้างก็ตาม แต่ความดีที่ทำไว้ย่อมไม่เสียหายไปแน่นอน

         ฉะนั้น ก่อนตักบาตร ควรอธิษฐานโดยนั่งหรือยืนก็ได้ แล้วแต่สถานที่จะอำนวย ยกสี่งของที่จะถวายขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วอธิษฐานตามที่ต้องการที่ชอบธรรมเป็นภาษาใดก็ได้ จะว่าในใจหรือออกเสียงเบาๆ ก็ได้ จากนั้นจึงถวายอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ ถ้ามีดอกไม้ธูปเทียนให้ถวายหลังจากที่ถวายอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ถ้าเป็นสตรีให้วางดอกไม้ธูปเทียนไว้บนฝาบาตร เมื่อพระท่านปิดบาตรแล้ว

คำอธิษฐานก่อนตักบาตร

          ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา มีเป็นหมายเพื่อให้มนุษย์ปลดเปลื้องตนเองจากทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระเหนือทุกข์ทุกอย่าง (พระนิพพาน) หลักการดำเนินชีวีตของชาวพุทธนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งพระโบราณาจารย์ท่านจึงบัญญัติคำ อธิษฐานที่เป็นสากลนิยมไว้ว่า"อิ ทัง ทานัง สีละวันตานัง ภิกขูนัง นิยยาเทมิ สุทินนัง วะตะ เม ทานัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ อะนาคะเต กาเล ฯ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายทานนี้แด่พระสงฆ์ผู้มีศีล ขอท่านที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้ว จงเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นเทอญ ฯ"

          อีกบทหนึ่งเป็นคำอธิษฐานถึงพระสังฆรัตนะ ว่า “นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง, สังโฆ เม สะระณัง วะรัง, เอเตนะ สังจะวัชเชนะ, โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ฯ ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยคำสัตย์ นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อ เทอญ ฯ”

" การตักบาตรแบบถูกวิธีจะได้บุญมาก "แหล่งภาพจาก วันสำคัญของไทย

ข้อปฏิบัติในการใส่บาตร

1. นิมนต์พระ
          หลังจากที่เราเตรียมสำรับกับข้าวเรียบร้อยแล้ว เราก็ยืนรอพระที่จะเดินบิณฑบาตผ่านมา การยืนรอพระในขั้นตอนนี้ ควรศึกษาให้ดีเสียก่อนว่า เส้นทางนี้มีพระเดินผ่านหรือไม่ ไม่ใช่ว่าไปรอบนทางสายเปลี่ยวที่ไม่มีพระเดินผ่าน คงไม่ได้ใส่กันพอดี รอซักพัก พอมีพระเดินมาก็นิมนต์ท่าน

          การนิมนต์ ก็ควรใช้คำว่า "นิมนต์ครับ/ค่ะท่าน" แค่นี้พระท่านก็ทราบแล้ว ตอนเป็นพระเคยเดินบิณฑบาตที่ตลาดเขมร โยมนิมนต์ด้วยถ้อยคำอันรื่นหูว่า "ท่านเจ้าประคุณเจ้าคะ นิมนต์เจ้าค่ะ" มีอีกทีนึงโยมใช้คำว่า "นิมนต์เจ้าค่ะ พระอาจารย์"

          การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวม และใช้เสียงดังพอประมาณ โยมบางคนเรียกพระด้วยเสียงอันดัง "นิ โมนน!!" การนิมนต์ควรสังเกตอายุของพระด้วย ถ้าอายุน้อยกว่าเราหรือว่าเยอะกว่าไม่มากก็เรียกว่า หลวงพี่ ถ้ามีอายุหน่อยก็เรียก หลวงน้า ถ้าแก่พรรษามากก็เรียก หลวงตา หรือนอกจากนี้ก็อาจจะเรียก หลวงอา, หลวงลุง, หลวงปู่ ฯลฯ แล้วแต่จะลำดับญาติ โยมบางคนคงเขินอายพระ เนื่องจากไม่ค่อยได้ใส่บาตรเท่าไร เวลาพระเดินมาก็ยื่นมือออกมาทำท่ากวักๆ ทำเหมือนพระเป็นรถเมล์ หลังจากนิมนต์พระ ก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไปคือ

2. จบ
          อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจบแล้วนะ การจบ หมายถึง การเอามาทูนไว้ที่หัวแล้วอธิษฐาน การจบ ควรใช้เวลาอธิษฐานแต่พองาม ไม่ต้องอธิษฐานนานจนเกินไป เคยมีโยมนิมนต์ไปรับบาตร ไอเราก็เดินไปเปิดฝาบาตรรอรับ โยมก็จบอยู่ ขอบอกว่านานมากกกกกกก นานจนรู้สึกได้ นานจนอดคิดไม่ได้ว่า "โยมขออะไรเราน้า?"

3. ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า
          จริงๆ แล้ว จุดประสงค์ของการถอดรองเท้า คือเป็นการให้ความเคารพพระสงฆ์โดยการไม่ยืนสูงกว่าท่าน เพราะเวลาพระสงฆ์บิณฑบาตจะเดินเท้าเปล่า แต่มีญาติโยมบางคนไม่เข้าใจเกี่ยวกับการถอดรองเท้าซึ่งมีหลายประเภทเหมือนกัน

4. ใส่บาตร
          อันนี้ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของการใส่บาตร สิ่งสำคัญที่ทุกคนมองข้ามก็คือ ควรดูว่าของที่นำมาใส่บาตรนั้นเสียรึเปล่า บางคนมีเจตนาอยากทำบุญดี แต่ดันไปซื้อของเสียมาใส่บาตร พระฉันไป เข้าห้องน้ำไป พวกร้านค้าก็จริงๆ บางครั้งเอาของค้างคืนมาขายเอากำไร ไม่สนใจพระเจ้า เห็นแก่ตัว หากินกับพระ ก็ฝากด้วยนะครับ เดี๋ยวทำบุญจะได้บาปเปล่าๆ

          นอกจากนี้ ของที่นำมาใส่ถ้าเพิ่งปรุงสุกเสร็จ ควรดูด้วยว่ามันร้อนมากรึเปล่า เคยมีโยมใส่แกงร้อนมากๆๆ บาตรเกือบหล่น ทั้งนี้เพราะบาตรทำจากโลหะ นำความร้อนได้ดี ปริมาณไม่ควรมากจนเกินไป การใส่ก็ควรวางในบาตรด้วยอาการสำรวม โยมผู้หญิงบางคนกลัวโดนพระจัด พอถุงกับข้าวถึงแค่ปากบาตร ก็ปล่อยลงมา ตุ๊บ!! นึกว่ากาลิเลโอกลับชาติมาทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ขั้นตอนต่อไปคือ

5. รับพร
          หลังจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ส่วนมากก็จะให้พร เราเป็นญาติโยม ก็ประนมมือรับพรกันตามระเบียบ โดยอาจยืนหรือนั่งยองๆ ก็ได้ ก้มหัวแต่พองาม ถ้าเป็นโยมผู้หญิงก็นั่งให้เรียบร้อย เหมาะสม ระหว่างนี้ก็อุทิศส่วนกุศลให้คนที่รัก เจ้ากรรมนายเวรและอื่นๆ ก็ว่ากันไป

การใส่บาตรที่อยากแนะนำก็มีประมาณเท่านี้ ขั้นตอนการทำบุญง่ายๆ ตื่นเช้ามาใส่บาตรกันเถอะจ้า คนไทย

เครดิทเนื้อความ 

http://thanat18.wordpress.com/2009/08/


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.unigang.com/Article/5492

แชร์