สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา

บุคคลผู้สามารถดำรงขันติธรรม คือความอดทนอดกลั้นไว้ได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เสงี่ยมงดงาม ถือธรรมะเป็นใหญ่ กิเลสตัณหาไม่อาจทำอันตราย เมื่อเป็นได้ดังนี้แล้ว ย่อมประสบความสงบร่มเย็น http://winne.ws/n27653

1.0 พัน ผู้เข้าชม
สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา

     เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้โพสต์ภาพเนื้อหาเป็นคติธรรม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวันมาฆบูชาความว่า 

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา

        เนื่องในวันมาฆบูชา 26 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า
ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันมีหลักการสำคัญเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ 1. การไม่ทำบาปทั้งปวง 2. การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม และ 3. การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน 3 เมื่อกว่า 2564 ปีล่วงมาแล้ว อย่างไรก็ดี หากปีใดเป็นปีอธิกมาส วันมาฆบูชาจะตรงกับดิถีเพ็ญเดือน 4 ดังเช่นที่เกิดขึ้นปีนี้ 

         สารัตถะประการหนึ่งในโอวาทปาติโมกข์นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนหลักการแห่ง “ขันติธรรม” เพื่อเป็นหลักเผยแผ่พระศาสนา และการดำรงตนของพุทธบริษัท ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า “ขันติ เป็นเครื่องเผาผลาญบาปธรรมอย่างยิ่ง” 

       “ขันติ” หมายถึง “ความอดทนอดกลั้น” มีลักษณะ คือความข่ม มีรส คือความอดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ มีสภาพที่ปรากฏ คือความอดกลั้นหรือความไม่โกรธ มีพื้นฐานคือความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกต่างมีสัญชาตญาณรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และก็เป็นธรรมดาที่ทุกชีวิตจำต้องเผชิญความทุกข์โทมนัส สลับกับความสุขโสมนัส หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เสมอ จะหาบุคคลผู้มิต้องประสบกับ “โลกธรรม 8 ” 

        กล่าวคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ ในโลกนี้ เป็นอันมิมีเลย  ผู้ตระหนักรู้ในความจริงเช่นนี้ จึงพึงสั่งสมบ่มเพาะกำลังแห่งขันติไว้สำหรับใช้ระงับยับยั้ง และต้านทานโลกธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่ามกลางวิกฤติการณ์ ซึ่งรุมเร้าเข้าสู่บ้านเมืองและโลกของเราทุกวันนี้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้รักษาร่างกายและจิตใจให้ยังคงความผาสุก สามารถอดทนอดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย ถ้อยคำจาบจ้วงล่วงเกิน คำติฉินนินทาว่าร้าย และความเสื่อมลาภเสื่อมยศ ซึ่งหลงยึดถือไว้ว่าเป็นตัวเราของเราเสียได้ อย่างน้อยแม้จะเจ็บใจเพียงใด แต่ก็ไม่เผลอแสดงอาการหุนหันพลันแล่นออกมาทางกายหรือทางวาจาจนเสียกิริยาอาการอันดี

         บุคคลผู้สามารถดำรงขันติธรรม คือความอดทนอดกลั้นไว้ได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เสงี่ยมงดงาม ถือธรรมะเป็นใหญ่ กิเลสตัณหาไม่อาจทำอันตราย เมื่อเป็นได้ดังนี้แล้ว ย่อมประสบความสงบร่มเย็น ระงับความดิ้นรนทะยานอยาก การที่สามารถดับเพลิงทุกข์เป็นคราว ๆ ได้ เสมือนว่าได้ถึงพระนิพพานเป็นคราว ๆ เป็นบทพิสูจน์ให้พุทธบริษัทรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า พระนิพพานมิใช่ธรรมะอันสุดเอื้อม แม้ว่าพระนิพพานจริง ๆ คือความดับเพลิงทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงอาจยังอยู่ไกล แต่พระนิพพานในปัจจุบันคือความดับกิเลสตัณหา ซึ่งบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจในขณะนี้ จึงอาจใช้ “ขันติธรรม” คือความอดทนอดกลั้นนี้เอง เป็นเครื่องช่วยระงับดับได้ แม้เพียงคราวหนึ่ง ๆ ก็ยังดี ไม่เกินความสามารถที่ทุกคนจะปฏิบัติและเข้าถึงได้ เพื่อความสงบร่มเย็นซึ่งพึงบังเกิดมีขึ้นแก่ตนและแก่สังคมส่วนรวม สมความปรารถนาอันดีงามของคนไทย ที่ต่างหวังใจมุ่งหมายจะได้ประสบสันติสุขด้วยกันทุกคน

        ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป เทอญ

ที่มา https://www.banmuang.co.th/

แชร์