ปลดล็อก ค็อกเทลมหัศจรรย์

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย อนุมัติแบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ยา “แอนติบอดี ค็อกเทล” (Antibody Cocktail) ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 http://winne.ws/n28160

332 ผู้เข้าชม
ปลดล็อก ค็อกเทลมหัศจรรย์

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย เผยอนุมัติแบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ยา “แอนติบอดี ค็อกเทล” (Antibody Cocktail) ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ นับเป็นนวัตกรรมทางยาล่าสุดที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในวิกฤตการระบาดที่อาจเกินกำลังรับของระบบสาธารณสุขของประเทศ

การรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเริ่มต้นมีกลุ่มยาที่เป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล(Monoclonal Antibody) หลายตัวเช่นยา Sotrovimab ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา และยา Cas-Imb (Regeneron) ที่เรียกกันว่า Antibodies Cocktail สำหรับ “แอนติบอดี ค็อกเทล” ที่เป็นการใช้ยาคาซิริวิแมบ (Casirivimab หรือ Cas) ควบคู่กับยาอิมดีวิแมบ (Imdevimab หรือ Imb) นั้นเป็นโปรตีนภูมิคุ้มกันที่คัดสรรเฉพาะด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์และโคลนนิ่งเพิ่มจำนวนให้มาก ภูมิคุ้มกันนี้ผลิตโดยเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาที่สกัดจากหนูและผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายอย่างเฉพาะเจาะจง โดยยาสองชนิดนี้จัดเป็นยาแอนติบอดีที่จำเพาะในการตรงเข้าจับเชื้อไวรัสได้ดีกว่าแอนติบอดีทั่วไป เพราะจัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing monoclonal Antibody) คือทำให้ไวรัสเป็นกลาง อ่อนกำลังลง และยับยั้งการติดเชื้อในร่างกายไม่ให้ลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้

การให้ยา “แอนตีบอดี ค็อกเทล” ใช้วิธีหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำครั้งเดียว (single intravenous infusion) ประกอบด้วยสารภูมิต้านทานที่พร้อมทำงานยับยั้งการติดเชื้อได้ทันที จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของยาดังกล่าวพบว่าเหมาะสมต่อการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียวที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับยาแอนติบอดี ค็อกเทลอาจมีอาการข้างเคียงเช่นเดียวกับที่พบจากการฉีดยาอื่นๆ ได้ เช่นปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) แต่มีโอกาสน้อยมาก

โดยสรุป ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นทางเลือกที่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแนวทางการรักษาในปัจจุบันและช่วยให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับมือกับสถานการณ์ระบาดได้ดียิ่งขึ้น

อ้างอิง

Taylor, P.C., Adams, A.C., Hufford, M.M. et al. Nat Rev Immunol 21, 382–393 (2021).

Weinreich DM. et al. MedRxIV 2021. doi:

https://doi.org/10.1101/2021.05.19.21257469

FDA . Fact sheet for healthcare providers: emergency use authorization (EUA) of REGEN-COV (casirivimab and imdevimab). Revides 6/2021. 

Available at:https://www.fda.gov/media/145611/download.

https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2021.05.19.21257469v2

ขอบคุณเนื้อหาจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

แชร์