พระไตรปิฎกคืออะไร ? มีความเป็นมาอย่างไร ? เชิญชาวพุทธมาอ่านพระไตรปิฎกกันเถอะ

พระไตรปิฎกคืออะไร ? มีความเป็นมาอย่างไรศาสนาทุกศาสนา มีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน แม้เดิมจะมิได้ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ ก็ได้มีการเขียน การจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้ http://winne.ws/n3476

4.5 หมื่น ผู้เข้าชม
พระไตรปิฎกคืออะไร ? มีความเป็นมาอย่างไร ? เชิญชาวพุทธมาอ่านพระไตรปิฎกกันเถอะ

ความหมายของคำว่า พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกคืออะไร ?

          ศาสนาทุกศาสนา มีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน แม้เดิมจะมิได้ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ ก็ได้มีการเขียน การจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้ เมื่อโลกเจริญขึ้นถึงกับมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ๆ ได้ คัมภีร์ศาสนาเหล่านั้นก็มีผู้พิมพ์เป็นเล่มขึ้นโดยลำดับ

          พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ใบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัล กุรอานของศาสนาอิสลาม

          กล่าวโดยรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำ ๆ ว่า พระ+ไตร+ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า ไตร แปลว่า ๓ คำว่า ปิฎก แปลได้ ๒ อย่าง คือแปลว่า คัมภีร์หรือตำราอย่างหนึ่ง แปลว่า กระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่า เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของฉะนั้น

พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นอะไรบ้าง ?

         เมื่อทราบแล้วว่า คำว่า พระไตรปิฎก แปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎก นั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละปิฎกนั้น มีความหมายหรือใจความอย่างไร ปิฎก ๓ นั้นแบ่งออกดังนี้
         ๑. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
         ๒. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป
         ๓. อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ หรือธรรมะที่สำคัญ 

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

          การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งหลักฐานเรื่องการท่องจำ และข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ จนถึงมีการสังคายนา คือจัดระเบียบหมวดหมู่ การจารึกเป็นตัวหนังสือการพิมพ์เป็นเล่ม

          ในเบื้องแรกเห็นควรกล่าวถึงพระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
         ๑. พระอานนท์ ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก
         ๒. พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก
         ๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่าในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไมมีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ
         ๔. พระมหากัสสป ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ ในข้อนี้ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร และพระจุนทะ น้องชายพระสาริบุตร ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา คือจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ดังจะกล่าวต่อไป 

ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสาริบุตรได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะร้อยกรองให้เป็นหมวดเป็นหมู่มาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ 

พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย

          สมัยเมื่อนครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ สาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระผู้เป็นน้องชายพระสาริบุตร เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดแก่พระพุทธศาสนา จึงเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๑๒๘ ถึงหน้า ๑๕๖) คือ ในหน้า ๑๓๙ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยื่งยืนสืบไป

          พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่มต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ 

พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทะเถระ ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังเมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ โดยแสดงโพธิปัขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้ายได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่าสาราณิยธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์ อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๔๙ ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ คือความปรารถนาดีของพระจุนทะเถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา 

ที่มา:http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/abouttripitaka/from.html

พระไตรปิฎกคืออะไร ? มีความเป็นมาอย่างไร ? เชิญชาวพุทธมาอ่านพระไตรปิฎกกันเถอะ

ประวัติคัมภีร์เถรวาท มีความเป็นมาอย่างไร

1. ความรู้พื้นฐาน ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

เถรวาท แปลว่า "วาทะของพระเถระ" หมายถึง ถ้อยคำของพระอรหันต์ในคราวสังคายนาซึ่งสืบทอดคำสอนต่อมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คัมภีร์ในสายเถรวาท

คัมภีร์ในสายเถรวาท ส่วนใหญ่บันทึกในภาษาบาลี แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ

ก. คัมภีร์ชั้นต้น ที่สืบทอดมาจากการสังคายนา เรียกว่า พระบาลี หรือ พระไตรปิฎก ซึ่งมีรายละเอียดการสังคายนา ดังนี้

         สังคยนาครั้งที่ 1 (มุขปาฐะหรือการท่องจำ) ปฐมสังคายนาเมื่อ 3 เดือน หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยพระอรหันต์ ทั้งหมด 500 พระองค์ ดำเนินการสังคายนา

        สังคายนาครั้งที่ 2 (มุขปาฐะหรือการท่องจำ) จัดทำในพ.ศ. 100 โดยพระอรหันต์ 700 พระองค์

       สังคายนาครั้งที่ 3 (มุขปาฐะหรือการท่องจำ) จัดทำในพ.ศ. 234 โดยพระอรหันต์ 1,000 พระองค์

       สังคายนาครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 460 เริ่มจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร

ข. คัมภีร์ขั้นรอง ได้แก่ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคัมภีร์ปกรณ์พิเศษ เช่น วิสุทธิมรร เป็นต้น เขียนขึ้นราว พ.ศ. 900 กว่า นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่บันทึกในบางท้องถิ่นในภายหลัง และเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น คัมภีร์ที่บันทึกเกี่ยวกับวิธีการเจริญสมาธิภาวนา หรือพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

คัมภีร์ในสายเถรวาท ส่วนใหญ่แพร่หลายอยู่ในบางประเทศในเอเซียอาคเนย์ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียตนาม และเอเชียใต้ คือศรีลังกา 

2. ความหมายของธรรมกายในคัมภีร์เถรวาท

ความหมายของ "ธรรมกาย" ในคัมภีร์สายเถรวาท มี 4 ความหมายหลัก คือ

2.1 กายแห่งการตรัสรู้ธรรม ซึ่งเป็นพระนามหนึ่งของพระตถาคต ธรรมกาย เปลี่ยนจากเจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่ฎีกาจารย์กล่าวว่า "ลุมพินีวเน รูปกาเยน ชาโต โพธิมณฺเฑ ธมฺมกาเยน..." (สารตฺถทีปนี วินัยฎีกาสมนฺตปาสาทิกาวณฺนา 1/154/326) "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติด้วยรูปกายที่ป่าลุมพินี และทรงอุบัติด้วยธรรมกายที่โคนต้นโพธิ์" การอุบัติด้วยธรรมกายทำให้พระพุทธองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมกาย หรือเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ ดังที่ตรัสไว้ในอัคคัญญสูตรว่า

"ตถาคตสฺสเหตํ วาเสฏฐา อธิจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ...ธมฺมภูโต อิติปิ..." (ที.ปา.11/5/92)

"ดูก่อน วาเสฏฐะและภารทวาชะ คำว่า "ธรรมกาย" ก็ดี ..."ธรรมภูต" (ผู้เป็นธรรม) " ก็ดี...เป็นชื่อตถาคต"

โดยความหมายนี้ ธรรมกายจึงเป็นพระนามหนึ่งในหลายพระนามเหมือนคำว่า "พุทโธ" หรือ "ภควา" ที่จัดเป็น เนมิตกนาม คือพระนามที่เกิดจากธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เอง ไม่มีผู้ใดทรงตั้งให้ และเป็นวิดมกขันตินาม คือพระนามที่เกิดในที่สุดแห่งการหลุดพ้ที่ทำให้พระองค์บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์

2.2 หมวดหมู่คำสอน คือ พระธรรมวินัย หรือ พระไตรปิฎก

2.3 สภาวธรรม

2.4 สภาวธรรมที่ประกอบเป็นกาย ที่เป็น "อัตตา" มีหลักฐานปรากฏอยู่ 3 แห่ง คือ ขุ.อ.จริยา. ปรมตฺถปีปนี 52/256/324,สีลกฺขนฺธวคฺคฎีกา 9/7/81,สีลกฺขนฺธวคฺคอภินวฎีกา (ปฐโม ภาโค) 12/7/300 มีความว่า

"ปรํ วา อตฺตภูตโต ธมฺมกายโต อญฺญํ ปฏิปกฺขํ วา ตทนตฺกรํ กิเลสโจรคณํ มินาติ หิสตีติ ปรโม..."

"อนึ่ง บารมีย่อมกำจัด คือทำลายปฏิปักษ์อื่นจากธรรมกายอันเป็นอัตตา หรือ (ทำลาย) หมู่โจรคือกิเลสที่ทำความพินาศแก่ธรรมกายอันเป็นอัตตานั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ปรมะ. สัตว์ใดประกอบด้วยปรมะ (บารมี) ดังกล่าวมานี้ สัตว์นั้นชื่อว่า มหาสัตว์ (โพธิสัตว์)."

ข้อความนี้เท่ากับบอกว่า เป้าหมายของการสร้างบารมีก็เพื่อกำจัดกิเลส ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมกายเบื้องต้นบารมีทำให้ธรรมกายพัฒนาเติบใหญ่ขึ้น เมื่อแก่กล้าก็กำจัดกิเลสในขั้นละเอียดต่อไป

3. คุณลักษณะของธรรมกายในคัมภีร์เถรวาท

ธรรมกาย ที่ปรากฏในชั้นพระบาลีหรือพระไตรปิฎกมีทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่งแสดงลักษณะ 4 ประการดังนี้

3.1 เป็นธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ (อัคคัญญสูตร)

3.2 พัฒนาให้เติบโตได้ (มหาปชาบดีโคตมีเถรีอปทาน)

3.3 มีจำนวนมากมาย (ปัจเจกพุทธาปทาน)

3.4 เป็นพระนามของพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีตและปัจจุบัน (อัคคัญญสูตรและอัตตสันทัสสกเถราปทาน)

เรียบเรียงโดยพม.สมเกียรติ วรยโส ป.ธ.9 ผอ.สำนักเรียนอภิธรรมศึกษา

ขอบคุณภาพจากwww.google.com

แชร์