คำแปลไทย บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จากพระไตรปิฎก ประกอบภาพ เข้าใจง่าย

สวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ได้คล่องปากขึ้นใจแล้ว ดูคำแปลไทย ได้ที่นี่เลย คลิก!! http://winne.ws/n8338

3.4 หมื่น ผู้เข้าชม
คำแปลไทย บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จากพระไตรปิฎก ประกอบภาพ เข้าใจง่าย

บทสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร พร้อมคำแปล ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (แปล) (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

           สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ (ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นเป็นไฉน?)

           คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

          การประกอบความลำบากแก่ตน เป็น ทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

          ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านี้ อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

          ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น ... เป็นไฉน?  คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ

            ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ (ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์) ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

           ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหา อันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

            ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ ความดับด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย

            ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ           

อัตตกิลมถานุโยค ทรมานกายแบบสุดโต่ง (ตึงเกินไป)

คำแปลไทย บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จากพระไตรปิฎก ประกอบภาพ เข้าใจง่ายขอบคุณภาพจาก www.dmc.tv

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯทุกขอริยสัจนั้นเรากำหนดรู้แล้ว

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นเราละแล้ว             

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นควรกระทำให้แจ้ง ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเรากระทำให้แจ้งแล้ว

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นเราเจริญแล้ว

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริงมีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์  เทวดา และมนุษย์ เพียงนั้น

           ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ(ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

           ก็ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุดบัดนี้ ภพใหม่ไม่มี

            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

           ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่าน  โกณฑัญญะ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

กาเมสุกามสุขัลลิกานุโยค ปรนเปรอความสุข สุดโต่ง (หย่อนเกินไป)

คำแปลไทย บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จากพระไตรปิฎก ประกอบภาพ เข้าใจง่ายno1thai.blogspot.com

ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรแล้ว พวกภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกประกาศไม่ได้

        ... พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว 

        ... พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว 

        ... พวกเทพชั้นยามาได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว 

        ... พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว 

        ... พวกเทพชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว 

        ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว 

        ... พวกเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มารพรหม หรือใคร ๆ ในโลก ประกาศไม่ได้

             โดยขณะนั้น โดยครู่นั้น เสียงได้ระบือขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ก็หมื่นโลกธาตุนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ทั้งแสงสว่างอันยิ่ง หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของพวกเทพดาทั้งหลาย

             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้นคำว่า อัญญาโกณฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะด้วยประการฉะนี้แล

 ที่มา  http://www.dmc.tv/pages/praying/Dhammajak.html

อริยมรรคมีองค์ ๘

คำแปลไทย บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จากพระไตรปิฎก ประกอบภาพ เข้าใจง่ายขอบคุณภาพจาก mukkamuka.blogspot.com
แชร์