“ว่าวใต้น้ำ” การผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำในมหาสมุทร

สิ่งประดิษฐ์หน้าตาเหมือนเครื่องร่อน 2 ลำ กำลัง “แหวกว่าย” อยู่ใต้ท้องทะเลลึกของหมู่เกาะแฟโร ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก http://winne.ws/n28457

1.3 พัน ผู้เข้าชม
“ว่าวใต้น้ำ” การผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำในมหาสมุทร

สิ่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “มังกรทะเล” หรือ “ว่าวใต้น้ำ” ที่แหวกว่ายไปในกระแสคลื่น แต่อันที่จริงมันคือ “กังหันไฮเทค” ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานกระแสน้ำในมหาสมุทร

“ว่าวใต้น้ำ” สองตัวนี้มีความยาวปีก 5 เมตร และมีลักษณะการเคลื่อนตัวใต้น้ำเป็นรูปเลข 8 เพื่อรับพลังงานจากกระแสน้ำทะเล โดยที่ตัวเครื่องถูกล่ามติดไว้กับก้นทะเล ด้วยสายเคเบิลเหล็กยาว 40 เมตร

การเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดจากแรงยกตัวของกระแสน้ำ แบบเดียวกับเครื่องบินที่ลอยขึ้นได้จากแรงลมที่ช่วยให้เกิดแรงยกปีกของเครื่อง

การเคลื่อนตัวในลักษณะนี้ ทำให้ว่าวใต้น้ำสามารถเคลื่อนตัวเป็นวงกว้างด้วยความเร็วที่สูงกว่ากระแสน้ำใต้ทะเลหลายเท่าตัว และทำให้มันสามารถเพิ่มปริมาณพลังงานที่ได้จากกระแสน้ำทะเล

คอมพิวเตอร์ที่อยู่บนตัวเครื่อง ทำหน้าที่บังคับให้ว่าวใต้น้ำหันไปในทิศทางที่มีกระแสน้ำแรง และอยู่ในระดับน้ำลึกที่เหมาะสม แต่หากบริเวณนั้นมีว่าวหลายตัวทำงานไปพร้อม ๆ กัน เครื่องก็จะกระจายตัวให้อยู่ห่างจากกันเพื่อป้องกันเหตุชนกัน

พลังงานไฟฟ้าที่ได้จะถูกส่งผ่านสายส่ายเคเบิลเหล็กที่ยึดโยงตัวเครื่องไว้กับก้นทะเลแล้วส่งต่อไปยังสถานีควบคุมใกล้กับเมืองริมฝั่งทะเล เวสต์มันนา

“ว่าวใต้น้ำ” การผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำในมหาสมุทร

เทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาโดย “มิเนสโต” (Minesto) บริษัทด้านวิศวกรรมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 ซึ่งแตกออกมาจากบริษัทซาบ (Saab) ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสวีเดน

ว่าวใต้น้ำ 2 ตัวที่หมู่เกาะแฟโร ผลิตไฟฟ้าป้อนให้แก่ SEV บริษัทไฟฟ้าของหมู่เกาะแห่งนี้ ตามโครงการทดลองที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา

ว่าวแต่ละตัวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนได้ประมาณ 4-5 หลัง แต่นายมาร์ติน เอียดลุนด์ ผู้บริหารของมิเนสโต ระบุว่า จะนำว่าวขนาดใหญ่กว่าสองเท่าไปใช้ในทะเลแถบนี้ในช่วงต้นปี 2022

“ว่าวตัวใหม่จะมีความยาวปีก 12 เมตร และแต่ละตัวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 เมกะวัตต์” เขากล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า “เราเชื่อว่าฝูงว่าวเหล่านี้จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับการใช้งานของบ้านเรือนราวครึ่งหนึ่งบนหมู่เกาะแฟโร”

อ่านเพิ่มที่ ข่าวสด

แชร์