แม้ไร้ขา ใช่ว่าจะไร้ชีวิต "นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง" ผู้หญิงไทยไปไกลถึงอังกฤษ

แม้ไร้ข้า ใช่ว่าจะไร้ชีวิต นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง ผู้หญิงไทยที่แม้จะไร้ขา แต่สามารถไปศึกษาต่อได้ไกลถึงประเทศอังกฤษ และใช้ชีวิตได้ยิ่งกว่าคนปกติ!!! http://winne.ws/n5811

1.2 พัน ผู้เข้าชม
แม้ไร้ขา ใช่ว่าจะไร้ชีวิต "นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง" ผู้หญิงไทยไปไกลถึงอังกฤษ

ชีวิตคนเราในทุกวันนี้ ไม่มีใครไม่เหนื่อย ไม่บ่น ไม่ท้อ ยิ่งบนโลกโซเชียล ในแต่ละวัน เราเห็นฟีดข่าวคนบ่นกันได้ทุกเรื่อง ทุกวัน ตั้งแต่เรื่อง ฝนตก รถติด น้ำท่วม ชีวิตไม่พอใจ ไม่มีความสุขกันเลยสักวัน แต่ถ้าคุณได้ Follow  Facebook ของ Wintadcha TN นางฟ้าเก้าอี้เข็น

คุณจะได้เห็นมุมมองดีๆ จากผู้หญิงร่างเล็กที่ใช้ชีวิตบนเก้าอี้รถเข็นมาตั้งแต่จำความได้  ถึงแม้ร่างกายเธอจะไม่ครบ 32 แต่เธอก็พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆ คนบนโลกใบนี้อย่างไม่มีท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ หรือเลือกปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย  วันนี้ทีมงาน Women MThai ขอบุกถึงถิ่น เพื่อมาพูดคุยกับเธอคนนี้ ฟ้า วิญธัชชา ถุนนอก ในวัย 25 ปี หรือที่ใครๆ รู้จักเธอในชื่อ นางฟ้าเก้าอี้เข็น

เมื่อเราถามถึงสาเหตุที่ต้องนั่งรถเข็น เธอก็ตอบกับเราอย่างเต็มใจ

” ฟ้าพิการตั้งแต่กำเนิดค่ะ เนื่องจากสุขภาพคุณแม่ไม่ค่อยแข็งแรง มดลูกคุณแม่มีปัญหา ช่วงนั้นคุณแม่ทำงานหนัก แม่ฟ้าเป็นชาวนา ชาวสวนธรรมดา หาเช้ากินค่ำนี่ล่ะค่ะ แล้วก็มีลูกสาว และ ลูกชาย ในวัยเรียน อยู่แล้ว เลยยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น แต่บังเอิญว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ฟ้าแล้ว ซึ่งผลอัลตร้าซาวด์ออกมา คุณหมอก็ได้บอกคุณแม่แล้วว่า ลูกจะพิการส่วนล่างนะ คุณหมอก็ได้ถามคุณแม่แล้วว่า จะเก็บไว้ไหม หรือ จะเอาออก แต่คุณแม่ก็ยืนยันว่าจะเก็บไว้ “

แม้ไร้ขา ใช่ว่าจะไร้ชีวิต "นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง" ผู้หญิงไทยไปไกลถึงอังกฤษ

คุณฟ้า วิญธัชชา ในวัยเด็ก นั่งอยู่บนตักของคุณแม่รินดาของเธอ

เรามีพี่ๆ แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อโตขึ้น แต่ตัวเองเราไม่ได้เหมือนเขา

“ตอนแรกก็รู้สึกแปลกใจค่ะ ถามตัวเอง ว่าทำไมเรามีไม่เหมือนเขา พี่ชาย พี่สาว มีขา ไปไหนมาไหนได้ ทำไมเขาใส่กางเกงขายาวได้ แต่เราใส่ขาสั้น กับกระโปรง แต่ไม่เคยน้อยใจตัวเอง ไม่เคยถามแม่ว่าทำไมเราไม่เหมือนคนอื่น แต่ถามตัวเองด้วยความสงสัยมากกว่า ตอนเด็กๆ ประมาณ 7- 8 ขวบ เราก็สงสัย เวลาเราออกไปข้างนอก โดนเพื่อนล้อบ้าง เราก็ถามตัวเองว่า เราก็คนเหมือนกัน ทำไมเขามาล้อเรา ตอนเด็กๆ เคยแอบร้องไห้นะ”

โกรธเพื่อนไหม ? เธอตอบทันทีโดยไม่ลังเลว่า
"ไม่โกรธค่ะ ไม่โกรธ แต่แอบน้อยใจ คือเราเป็นเพื่อนกัน เรียนด้วยกัน เจอกันทุกวัน ทำไมต้องมาล้อเรา ซึ่งตอนนั้นก็ไม่โกรธนะ มีน้อยใจแบบเด็กๆ มากกว่า”

ชีวิตตอนเด็กๆ เล่นกับเพื่อนยังไง

” ตั้งแต่ประถมส่วนใหญ่ก็เล่นกับเพื่อนผู้ชาย เพราะเพื่อนผู้หญิงจะถามเยอะกว่า ว่า เอ๊ะ ทำไมเธอไม่มีขา เธอเล่นได้ไหม สมัยก่อนเขาเล่นโดดยางกัน เราก็ไม่ได้เล่นกับเขา แต่เราก็ได้นั่งถักยางให้เขาแทน (น้องฟ้าหัวเราะ มีรอยยิ้มเมื่อเล่ามาถึงตรงนี้) ก็เลยไม่ค่อยได้เล่นกับเพื่อนผู้หญิง เพื่อนผู้ชายเนี่ย เขาจะไม่อะไรมาก เขาจะไม่ถามว่าเธอพิการ หรือกีดกันว่าเธอไม่มีขา เล่นไม่ได้หรอก เขาไม่มีอะไรแบบนี้ แต่เพื่อนผู้หญิงจะเอ๊ะ เล่นได้เหรอ ก็เธอไม่มีขานะ เธอนั่งวีลแชร์นะ อะไรแบบนี้ จะจู้จี้จุกจิกกว่าผู้ชาย เพื่อนผู้ชายจะแบบว่า โอเค เธอเล่นได้ เล่น เขาจะเล่นกับเรา ช่วยเหลือเราได้มากกว่า “

การเรียนของเธอ ตอนนี้ฟ้าได้ทุนเรียนจนจบปริญญาตรี คณะสังคมและอาชญากรรม ที่ MMU แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แล้ว และกำลังจะกลับไปเรียนต่อปริญญาโทที่คณะและ มหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยมีเป้าหมายในอนาคตจะเรียนต่อ ปริญญาเอก ที่คณะ และมหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ด้วย ดูเธอมีความสนใจทางด้านนี้อย่างจริงจังกันเลยทีเดียว จนเราอดถามไม่ได้ว่าทำไมถึงเลือกเรียนสาขานี้

แม้ไร้ขา ใช่ว่าจะไร้ชีวิต "นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง" ผู้หญิงไทยไปไกลถึงอังกฤษ

คุณฟ้า วิญธัชชา ในระหว่างใช้ชีวิตศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ

“ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่าเราแตกต่างจากคนอื่น สิทธิคนพิการมันน้อย เราได้รับบทเรียนมาในจุดๆ นั้น โดนกีดกันทางด้านการศึกษาก็เยอะ คือตอนเด็กๆ กว่าฟ้าจะได้เรียน ลำบากมากค่ะ แม่ต้องอุ้มไปเรียน แบกเราไปสมัครหลายๆ สถานที่เขาก็ปฏิเสธหมด เขาก็จะบอกว่าลูกคุณพิการนะ เรียนไม่ได้หรอก เดี๋ยวเป็นภาระคนอื่น เขาพูดตรงๆ แบบนี้เลยค่ะ หรือบางที่ก็หลอกเอาเงิน ถ้าจ่ายมา ฉันจะให้ลูกคุณเรียนหนังสือ”

บ้านเกิดอยู่ที่เพชรบูรณ์ ซึ่งคุณแม่ก็พาตระเวนไปทุกภาค เพื่อจะให้ลูกสาวคนเล็กได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กคนอื่นๆ

สิทธิด้านการศึกษามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เด็กไทยทุกคนต้องได้เข้าเรียนหนังสือไม่ใช่เหรอคะ

“ใช่ค่ะ แต่สมัยก่อนย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้วมันค่อนข้างลำบากจริงๆ อะไรๆ มันยังไม่เท่าสมัยนี้ สมัยนี้คนพิการเริ่มแอ็คทีฟมากขึ้น มีแรงกระตุ้นให้ตัวเองเพื่อจะดันตัวเองออกสู่สังคมมากขึ้น ตีแผ่ความสามารถของคนพิการมากขึ้น ไม่เหมือนกับคนสมัยก่อน อย่าง ย่าของฟ้า เขาจะชอบคิดว่า คนพิการ ทำอะไรไม่ได้ อย่างนั้นก็อยู่บ้าน เลี้ยงไก่ เลี้ยงกา ไป”

แล้วฟ้ารู้สึกยังไง อะไรเป็นจุดที่ทำให้ฟ้าก้าวออกมาเป็นฟ้า นางฟ้ารถเข็น ที่ใช้ชีวิตทำทุกอย่างแบบเดียวกับคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป ดูแลตัวเองได้ ไปห้าง ไปเที่ยวผับ ทำโน่น ทำนี่

จุดเริ่มต้น มีพื้นฐาน มาจาก แรงบันดาลใจจาก แม่
” ตั้งแต่เด็กๆ ฟ้ามีแม่เป็นแรงบันดาลใจ แม่เป็นคนแรกที่จะผลักดันให้ฟ้าออกสู่สังคมได้อย่างไม่อาย สมัยเด็กๆ ฟ้ากลับมาจากโรงเรียน ตัวจะมอมแมมไปหมดเพราะโดนเพื่อนแกล้งเอาสีทาบ้าง ล้อเรา ดึงผมเรา แม่ก็จะปลอบใจทุกวัน ว่า สู้ๆ นะ อย่าเพิ่งท้อ เนี่ย หนูก็คน แค่นั่งรถเข็นเฉยๆ เราแค่อยู่บนวีลแชร์ เราก็หายใจเหมือนคนอื่นๆ กินข้าวเหมือนคนอื่น และเด็กพวกนั้นเขาก็เด็กเหมือนเรา เขามีสิทธิ์ที่จะต้องสงสัย ฟ้าเองยังสงสัยแม่เลยว่าทำไมก่อนนอนต้องใส่ผ้าถุงทุกวัน แล้วทำไมฟ้าไม่ใส่ ฟ้ายังสงสัย แล้วทำไมคนอื่นจะไม่สงสัย ไม่ต่างกันนะ ความคิดต่างกัน แต่ขึ้นอยู่กับเราว่า เราจะเอามาใส่ใจไหม ถ้าเราใส่ใจเราก็จะเป็นทุกข์มากกว่า

ตั้งแต่ตอนนั้น แม่คือแรงบันดาลใจให้ฟ้าคนแรกเลย ทำให้ฟ้าเรียนโรงเรียนเรียนร่วมตั้งแต่อนุบาลก่อน ถึงแม้เพื่อนจะล้อ ไอ่ขาขาด ขาด้วน ก็ยิ้มค่ะ ก็บอกตัวเองค่ะว่าไม่เป็นไร เราต้องยอมรับตัวเองค่ะ ว่าเราไม่มีขา ไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวกเหมือนคนอื่นเขา เราต้อง accept เราตรงนี้ จนเมื่อมีผู้ใหญ่มาแนะนำโรงเรียนเฉพาะทาง ซึ่งสมัยนั้นมีแค่ 2 โรงเรียน คือ โรงเรียน ศรีสังวาลย์ นนท์ และ โรงเรียน ศรีสังวาลย์ ขอนแก่น คุณแม่เลยพาฟ้าไปฝากไว้กับลุงที่ขอนแก่น ให้ฟ้าได้ไปเรียนโรงเรียนเฉพาะทางจนจบม . 3 ”

เห็นชีวิต : ชีวิตใน โรงเรียนเฉพาะทาง ศรีสังวาลย์ ขอนแก่น

“ในจุดนั้น เราเจอเพื่อนเหมือนๆ กัน หลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แขน ขา หรือ พูดไม่ค่อยได้ มันทำให้เรารู้สึกเห็นอะไรได้เยอะ ทำให้เรารู้สึกว่า เออ บนโลกเรายังมีอะไรๆ ที่ คล้ายๆเรานะ ยังมีอะไรที่ทำให้เราต้องมีชีวิต สู้ต่อไป และก็ทำให้เราแอ็คทีฟมาตั้งแต่ตอนนั้น ”

กลับมาเรียนโรงเรียนร่วม อีกครั้งในตอนม.ปลาย ที่โรงเรียน ขามแก่นนคร ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน

” คราวนี้ความคิดก็จะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ไม่มีเด็กๆ มาล้อว่า ขาขาด ขาด้วน เราก็จะมีเพื่อนๆ เยอะ ซึ่ง โรงเรียน ขามแก่นนคร เขาก็เริ่มมีนโยบาย ให้คนพิการสามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ มีการทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการอย่าง การทำทางลาด ทำห้องน้ำ สำหรับคนพิการมากขึ้น และอาจารย์ ก็ปลูกฝัง น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ มาตลอดว่า เขาก็คนเราก็คน แบ่งปันกันไป เราไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งสังคมที่นั่น เขาก็ไม่ได้มองว่า เห้ย เธอนั่งรถเข็น เธอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นเหมือนเขา ฟ้าก็อยากจะขอขอบคุณ โรงเรียน ขามแก่นนคร ด้วย ที่เปิดโอกาสให้ฟ้าได้ถึงจุดๆ นี้ ได้มีกำลังใจมากขึ้น ซึ่งฟ้าก็ได้กำลังใจจากเพื่อน จากคนรอบข้าง จากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ”

ประสบการณ์ฉีกกรอบของคำว่า “ทำไม่ได้หรอก” : เราค้นพบว่า เธอเป็นคนลุยๆ ชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ แบบแมนๆ ตั้งแต่เด็ก

“ฟ้าชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ เมื่อตอนม.ปลาย ฟ้าไปเข้าค่ายลูกเสือที่ค่ายทหาร ฟ้าก็ได้เห็นเพื่อนโดดหอ เหมือนที่ทหารเขาโดดกัน เราก็อยากโดดบ้าง ฟ้าก็ไปขอเขาเล่น พี่ทหารก็ไม่กล้าให้เราทำ เพราะเราต้องรัดช่วงต้นขา ซึ่งหนูไม่มีขา มันรัดลำบาก มันเป็นเรื่องความปลอดภัย หนูก็บอกให้เขารัดเอวเลยค่ะ รัดทุกอย่าง ให้แน่นๆ  เพราะอยากเล่น พอเราได้เล่น ก็รู้สึกว่า เออ เราทำได้นะ เราก็ไม่ได้ต่างจากคนอื่น ทำให้เราแบบอยากทำตรงนั้น อยากทำตรงนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ นี่คือ จุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนมุมมองตัวเอง”

กล้า ที่จะไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ต่างประเทศคนเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน จนเราชักอยากรู้ ทำไมถึงเลือกเรียนที่ประเทศอังกฤษ

” ทุนที่ฟ้าได้ เขาให้เลือก 3 ประเทศค่ะ แต่ที่เลือกที่นี่ เพราะ เป็นประเทศเจ้าของภาษา สำเนียงน่าจะโอเค และ เดินทางใกล้กว่า อเมริกา อีกอย่างคือ อังกฤษเป็นเกาะเล็กๆ การเดินทางง่ายกว่า ในขณะที่อเมริกามันกว้าง การเดินทางจะเป็นรัฐๆ การเดินทางมันจะลำบาก ตอนไป 2 สัปดาห์แรก คิดถึงบ้านมาก ภาษาเราก็ไม่ได้ แต่ก็อยู่ต่อจนเรียนจบตรี   “

อยู่โน่น ทำอะไรบ้างนอกจากเรียน

“ช่วยอาจารย์ทำงานบ้างค่ะ ส่วนใหญ่เรียนอย่างเดียวค่ะ มันเรียนหนัก เรื่องเรียนมาอันดับหนึ่ง พอพักจากการเรียนก็ไปเที่ยวบ้างตามเมืองต่างๆ ไปดูบอลตามสเตเดียมต่างๆ เพราะฟ้าเป็นคอบอล ทีมที่ชอบมากคือเชลชีค่ะ และก็ตอนนี้เรียนคอร์สสั้นๆ อย่างคอร์สดีเจ สแครชท์แผ่น ฟ้าชอบเพลงตื๊ด อีกอย่างที่อยากทำคืออยากเป็นดีเจด้วย”

แม้ไร้ขา ใช่ว่าจะไร้ชีวิต "นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง" ผู้หญิงไทยไปไกลถึงอังกฤษ

วันสบายๆ ของคุณฟ้า สวมเสื้อคอกระเช้า นั่งรถไฟ ในประเทศอังกฤษ

คนไทย กับ คนอังกฤษ ปฏิบัติตัวต่อ น้องฟ้าต่างกันยังไงบ้างคะ

“ต่างกันเยอะเลยค่ะ ไม่ว่าเราจะออกไปข้างนอก ไปทานข้าว ไปช้อปปิ้ง ไปเที่ยวผับ เขาจะมองเราปกติ ไม่ได้มองว่า เอ้ย เรานั่งรถเข็น เรายังมาเที่ยวผับเหรอ เขาไม่ได้มองอย่างนั้น ฟ้าไปอยู่ที่อังกฤษมา 3 – 4 ปี ฟ้าได้ไปทำอะไรที่มันท้าทายเยอะมาก ไปตามเมืองต่างๆ คนที่โน่นเขาก็มองว่าปกติ แต่ฟ้ากลับมาที่เมืองไทยแค่ 2-3 เดือน ฟ้าไม่ใช่คนชอบเที่ยวกลางคืน แต่แค่อยากจะไปดูให้รู้ว่ามันเป็นยังไง ฟ้าก็ไปเที่ยวผับ ไปเปิดหูเปิดตา ล่าสุดฟ้าไปผับแห่งนึง ขอไม่เอ่ยชื่อนะคะ แล้วการ์ดบอก อุ๊ย พิการ นั่งรถเข็น จะมาเที่ยวผับทำไมไม่อยู่บ้าน ไม่ทำตัวให้คนสงสารเลย ฟ้าก็แบบ หืม ? คนพิการจะต้องทำตัวให้คนปกติสงสารหรืออย่างไร ทำไมคนไทยต้องมองแบบนี้

ฟ้าก็บอกเขานะ ว่า ขอโทษนะคะ คนพิการก็คน เขาก็มีจิตใจเหมือนกัน พวกคุณๆ มาเที่ยวได้ แล้วทำไมพวกอย่างเราๆ เนี่ย มาเที่ยวไม่ได้ มีป้ายตรงไหนติดเหรอคะว่าห้ามคนพิการเข้า ถ้ามีเนี่ย ดิฉันจะไม่เข้า ถ้าไม่มีป้ายติดเนี่ย มีสิทธิ์นะคะ อย่าล้ำสิทธิ์คนอื่น

ฟ้ายังบอกกับพี่การ์ดคนนั้นเลยว่า พี่ พูดกับฟ้า ฟ้าไม่เสียใจนะ แต่ถ้าไปพูดกับคนอื่น เขาอาจจะเสียใจ คนพิการเขาต่างจากพี่ตรงไหน เพียงแค่พี่ยืนแล้วหนูนั่งรถเข็นเนี่ยเหรอ แค่นี่เรายืนคนละมุมกันแล้วเหรอ ที่เราหายใจนี่ พี่มีถังออกซิเจนเองเหรอ เราก็หายใจเหมือนๆ กัน แล้วทำไมเราจะออกมาเที่ยวข้างนอกไม่ได้ มันไม่สมควรจะพูดแบบนี้นะคะพี่ เขาก็อึ้งนะที่ฟ้าพูดแบบนั้นไป ผู้จัดการร้านก็มาขอโทษเรา

คือเราก็บอกว่า ไม่เป็นไรนะ แต่เรารู้สึกเจ็บ ไม่ใช่เจ็บใจ ไม่ได้น้อยใจที่เขามาว่าเราพิการอย่างนั้นนะแต่รู้สึกว่า เราคนไทยด้วยกัน ทำไมเราต้องมองต่างกัน ทั้งๆ ที่เราไปอังกฤษ เราหัวดำ สีผิวต่างกับเขา หน้าตาก็ต่าง แล้วเรานั่งเก้าอี้รถเข็นต่างจากเขาไปอีก เขายังไม่เคยมองว่าเราแปลกเลย ไม่ว่า ยูไทยนะ พิการด้วย อย่ามานะ! เขาไม่เคยกีดกันเลยว่าเราเป็นเอเชีย

แต่ว่ามุมมองของที่ต่างประเทศ กับที่ประเทศเรามันต่างกัน ด้วยประเทศเขาพัฒนาคนมาก ปลูกจิตสำนึกให้ลูกหลานเขามาเยอะ เด็กวัยรุ่น ที่โน่น เขาเห็นเราไปในที่สำหรับคนพิการ เขาจะไม่ไปยุ่ง เขาจะไม่ไปนั่ง หรือถ้านั่งเนี่ย พอเห็นเราเข้าไปปุ๊บ เขาจะลุกให้ทันที ไม่ต้องให้เราถาม

แต่ที่ไทย ฟ้าไปขึ้น BTS เองคนเดียว จากสถานีสยาม ไปลงที่ไหนสักที่ เราก็อยากรู้ว่า ใช้ชีวิตกันยังไง ซึ่งตอนนั้นเบียดมาก มีทั้งเด็กนักเรียนเลิกเรียน คนทำงานเพิ่งเลิกงาน ก็มีคู่รักเกย์คู่หนึ่งยืนอยู่ตรงมุมซึ่งเป็นที่ล็อครถเข็นคนพิการ แล้วเขาก็ยืนพิง คุยกัน เล่นแชทอยู่อย่างนั้น เราก็เอ้า ! ซึ่งเรานั่งรถเข็นเกาะอยู่ตรงเสาเหมือนคนปกติ ซึ่งรถเข็นเรามันก็เลื่อนไปตามแรงเหวี่ยงของรถไฟฟ้า ซึ่งมันก็ทิ่มบ้าง ชนคนข้างหลังบ้าง เราก็ใจเย็น เอาน่า ป้ายหน้าเขาก็อาจจะลง เราค่อยเขยิบไปที่ของเรา ปรากฎว่า ป้ายก็ไม่ลง 2 ป้ายก็ไม่ลง

เราก็เอาว่ะ ใจหน่อย ต่างประเทศเวลาเขาเห็นอะไรไม่ดีเขาก็พูดขึ้นมาเลย เราก็เอานิสัยที่ไปติดต่างประเทศมาพูด ว่า ขอโทษนะคะ น้อง 2 คนนั้นน่ะ พิการหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่พี่ขอที่ของพี่ได้ไหม พอดีพี่อยู่ตรงนี้ รถพี่มันเลื่อนไปเลื่อนมา แล้วมันจะชนคนอื่นเขา คนอื่นเขาจะบาดเจ็บ เขาก็มองหน้าเราแปลกๆ เหมือนไม่พอใจ ก็หยิบของมาแล้วก็อ่ะโน่นๆ ซึ่งเราก็รู้สึกแปลกเนอะ ซึ่งมันก็เป็นที่ของเรา และมันก็มีน้อยอยู่แล้ว คนก็ยังจะไปแย่งอีก ความรู้สึกมันก็ต่างกันเยอะ ”

ทำไมถึงไปเรียนต่อในสายวิชาที่หนักมากเลย สังคมและอาชญากรรม

ก่อนจะไปก็คิดตั้งนานเลยค่ะ คิดไปคิดมา ก็เอาสังคมและอาชญากรรมนี่แหละ มันน่าจะตีแผ่สังคมบ้านเราได้มากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันนี้ สังคมบ้านเรา อาชญากรรมมันเยอะ สิทธิคนพิการมันน้อย เด็กและสตรีโดนรังแกค่อนข้างสูง ฟ้าได้ทุน มีโอกาสได้ไปศึกษาต่างประเทศ ก็เลยอยากจะรู้มุมมอง ทัศนคติ และสังคมของต่างประเทศ และก็เอามา Compare ที่บ้านเรา ว่าเป็นยังไงบ้าง เผื่อว่าฟ้าจะเอากระบวนการของเขามา Adapt มาพัฒนาบ้านเรา อะไรที่มันสามารถทำได้ เราก็เอาความรู้ที่เรียนมาทำ มาต่อยอดให้กับบ้านเราได้ “

เรียนจบแล้ว จะกลับมาทำอะไรที่ไทยคะ

” เยอะเลยค่ะ ฟ้าอยากกลับมาเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของคนพิการ รวมทั้งเด็กและสตรีค่ะ เราอยากทำงานในจุดๆ นี้ ฟ้ารู้สึกว่า ถ้าทำงานนี้มันตรงกับตัวเอง เราจะเข้าใจมากกว่า”

คิดว่า สิ่งที่ฟ้าไปเรียนมาจะทำให้คนไทยเปลี่ยนอะไรไปได้บ้าง หรือ สิ่งที่ฟ้าทำอยู่ทุกวันนี้ จะทำอะไรให้คนไทยเปลี่ยนไปได้บ้าง

“ฟ้าไม่ได้หวังว่า สิ่งที่ฟ้าทำอยู่ทุกวันนี้ว่า ไม่ว่าฟ้าจะไปไหน ฟ้าจะแชร์ ฟ้าจะโพสท์ เขียนบทความลง แล้วก็มีคนติดตามขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ฟ้าแค่อยากจะเปลี่ยนมุมมอง อยากจะบอกว่า หยุดมองเหมือนเขาเป็นตัวประหลาด อันดับแรกเลย มองเขาให้เหมือนกับเป็นพวกคุณ เพราะคนพิการติดตามฟ้าก็เยอะ หลังไมค์ปรึกษาฟ้าเยอะมาก พี่ทำยังไงคิดบวก พี่ทำยังไงเวลาออกไปในสังคมแล้ว ไม่อายต่อสายตาแปลกๆ หรือมองเราแบบเหยียดๆ ฟ้าก็บอกว่า ยิ้มค่ะ เขามองเรา เราก็มองเขา แต่ไม่ได้มองตอบแบบโกรธ เกลียด หรือมองเขาแบบว่า มองฉันทำไม แต่ว่ามองแบบยิ้ม ส่งสายตา หรือถ้าเขาถาม ว่าเราเป็นอะไร ทำไมถึงนั่งรถเข็น เราก็แค่ตอบเขาตรงๆ แค่ตอบไปไม่กี่ประโยค ทำให้เขาหายสงสัย เขาก็จะไม่อะไรกับเรา หรือ ยิ้ม ยิ้มไว้ ฟ้าก็บอกเขาทุกวัน

ฟ้าก็ไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนมุมมองคนไทยได้มากแค่ไหน แต่ฟ้าก็จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด ขอแค่ 1% เปลี่ยนสักนิดนึงมองเราแบบปกติหน่อยหรือ ถ้าพวกคุณคิดว่าเราเป็นคนพิการขอให้มีจิตสำนึกในการใช้สิทธิ์ของกันและกันหน่อย ไม่มาเบียดเบียนเรา มันจะเป็นอันดีมาก”

ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมงที่เราได้คุยกับเธอคนนี้ แต่เราก็สัมผัสได้ถึง ความร่าเริง เป็นกันเอง ฟ้า วิญธัชชา ในโลกโซเชียลและตัวตนจริงๆ ของเธอ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน เธอส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนแปลกหน้า โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า จะรู้จัก หรือไม่รู้จักเธอ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นหญิง หรือ ชาย จะพิการ หรือไม่พิการ เธอคนนี้ก็ยังยินดีที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจในการมองโลกในแง่ดี ยินดีที่จะเห็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ที่เพื่อนมนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เราเองก็เอาใจช่วย และเฝ้ารอเห็นความสำเร็จของ วิญธัชชา ในวันที่เธอได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก กลับมาเป็น ด็อกเตอร์ วิญธัชชา ที่จะมาพัฒนาสังคมไทย บ้านเกิดของเธออย่างที่ตั้งใจไว้ สมกับชื่อที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งให้เธอที่มีความหมายว่า “ธงแห่งนักปราชญ์” คนนี้

แม้ไร้ขา ใช่ว่าจะไร้ชีวิต "นางฟ้ารถเข็นหัวใจแกร่ง" ผู้หญิงไทยไปไกลถึงอังกฤษ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ และภาพสวยๆ จาก  woman.mthai.com

แชร์