"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

คนรู้สึกว่าเหตุการณ์ในชีวิตไม่ราบรื่นหรือมีอะไรไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก็มักจะไปให้พระช่วยรดน้ำมนต์ให้ ทำให้เกิดความสบายใจ ซึ่งในทางจิตวิทยาถือว่ามีผลที่เป็นด้านบวกต่อจิตใจ http://winne.ws/n7730

1.8 หมื่น ผู้เข้าชม

ขันน้ำมนต์

"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

น้ำมนต์" เป็นสิ่งที่มีแพร่หลายอยู่ในหลายศาสนา เช่น ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ

ในศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อเรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา ซึ่งเชื่อกันว่าไหลมาจากสวรรค์ผ่านเศียรของพระศิวะ (ช่วยให้กระแสน้ำอ่อนลง มิเช่นนั้นก็จะท่วมโลก) จึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ล้างบาปได้ อาบแล้วทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์

แต่ในศาสนาพุทธ จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ หากแต่อยู่ที่คุณงามความดี  อีกทั้งเรื่องของน้ำมนต์ก็ไม่ใช่หลักคำสอนของพุทธศาสนาโดยตรง เพราะประวัติความเป็นมาของการทำน้ำมนต์นั้นมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนายุคหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เช่น รตนสูตร

การอาราธนาพระสงฆ์ให้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่คนในบ้านและบ้านเรือนในพิธีต่างๆ นั้น เดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลและขจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้หมดไป  ต่อมาเมื่อมีคนรู้สึกว่าเหตุการณ์ในชีวิตไม่ราบรื่นหรือมีอะไรไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก็มักจะไปให้พระช่วยรดน้ำมนต์ให้ ทำให้เกิดความสบายใจ ซึ่งในทางจิตวิทยาถือว่ามีผลที่เป็นด้านบวกต่อจิตใจ

พิธีอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำคงคาของศาสนาพราหมณ์- ฮินดู

"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ อธิบายว่า  หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องน้ำมนต์ของพุทธศาสนามีปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่แต่งภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี  ส่วนในพระไตรปิฎกนั้นไม่มีคำสอนเรื่องการทำและใช้น้ำพุทธมนต์

ส่วนประเด็นที่ว่าน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่นั้น อาจารย์สุชีพอธิบายว่า  พุทธศาสนาได้รับเอาคติเรื่องการอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนา พราหมณ์มาใช้  แต่ไม่ใช่ลงไปอาบในแม่น้ำเหมือนพราหมณ์ หากแต่เอาน้ำมาใส่บาตรหรือหม้อน้ำมนต์ แล้วอาราธนาพระให้เจริญพุทธมนต์เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันอันตรายต่างๆ ได้  แต่ถึงอย่างนั้น น้ำมนต์ก็ไม่สามารถทำให้คนดีหรือชั่วได้ เพราะดีชั่วเป็นเรื่องของกรรม  น้ำมนต์จะช่วยได้ก็เฉพาะเรื่องของจิตใจ คือช่วยให้ปลอดโปร่งสบายใจอันเป็นผลทางจิตวิทยา

การทำน้ำมนต์แบบดั้งเดิมนั้นเป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์และเป็นส่วนหนึ่งของการสวดพระปริตร  พุทธศาสนารับเอาแนวคิดเรื่องพระปริตรมาจากศาสนาพราหมณ์ซึ่งอยู่ในคัมภีร์อถรรพเวท โดยนำมาดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับหลักธรรมของพุทธศาสนา

พิธีทำน้ำพระพุทธมนต์จะสวด"พระปริต"และบท"รัตนสูตร "จะโยงด้ายสายสิญจน์จากขันน้ำมนต์

"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

ตามประเพณีโบราณ ถ้าพระสงฆ์สวดพระปริตรที่ไหนก็จะต้องตั้งบาตรหรือหม้อน้ำ โดยมีเทียนจุดติดไว้ในที่นั้นและผูกด้วยสายสิญจน์โยงมาให้พระถือเวลาสวดพระปริตร  เมื่อพระสงฆ์สวด "รตนสูตร" ถึงบทว่า "ขีณัง ปุราณัง" พระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้าก็จะปลดเทียนมาเวียนปากบาตรแล้วหยดขี้ผึ้งลงในน้ำ  พอถึงบทว่า "นิพพันติ ธีรา ยถายัมปทีโป" ก็จะเอาเทียนจุ่มน้ำในบาตรหรือหม้อน้ำให้ไฟดับทันทีแล้วปิดฝาครอบ

องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำน้ำมนต์ก็คือ "สายสิญจน์" ซึ่งเป็นด้ายที่ทำด้วยฝ้าย  ขณะทำพิธี พระสงฆ์จะวงสายสิญจน์ตั้งแต่พระพุทธรูปในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประธานสงฆ์ ผ่านพระสงฆ์ในพิธีทุกรูปจนถึงรูปสุดท้าย  เมื่อสวดให้ศีลให้พรเสร็จแล้ว พระรูปสุดท้ายก็จะค่อยๆ ม้วนส่งต่อมาจนถึงหัวหน้าแถว

สายสิญจน์ที่เข้าพิธีแล้วถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันอันตราย โรคภัยไข้เจ็บ และเป็นสิริมงคล  นิยมใช้ผูกข้อมือเด็กหรือผูกข้อมือรับขวัญผู้มาเยือน  เช่น  ในพิธี "บายศรีสู่ขวัญ" ของชาวชนบทภาคอีสาน ซึ่งจะใช้สายสิญจน์ผูกข้อมือให้ผู้เข้าร่วมในพิธีทุกคน  สายสิญจน์ที่ใช้ผูกข้อมือนิยมผูกเป็น ๓ ปม ซึ่งหมายถึง "ไตรสรณคมน์"  ส่วนสายสิญจน์ในงานมงคลใช้ด้ายดิบ ๙ เส้น โดยให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกัน

สำหรับคาถาที่ใช้สวดนั้น ถ้านำมาใช้เพื่อความเป็นสิริมงคลหรือป้องกันอันตรายก็เรียกว่า "มนต์" ที่กลายมาเป็น "พุทธมนต์" หรือ "น้ำมนต์"  ถ้านำน้ำมนต์มารดอาบเพื่อขจัดสิ่งมลทินก็เรียกว่า "เสกมนต์" ซึ่งเป็นลักษณะของการร่ายมนต์หรือบริกรรมคาถา

อย่างไรก็ตาม  คาถาหรือบทสวดมนต์ที่ใช้ในการทำน้ำมนต์นั้นจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ถ้าหากผู้สวดไม่รู้ความหมาย  ตรงกันข้าม ถ้าจะให้น้ำมนต์สำเร็จผลตามที่ต้องการ ผู้สวด (และผู้ฟัง) จะต้องรู้ความหมาย และจิตก็ต้องตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิ

ต่อไปก็คือภาชนะใส่น้ำมนต์ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้บาตร หม้อน้ำ หรือใช้ขันน้ำพานรองทองเหลืองก็ได้ โดยใส่น้ำประมาณครึ่งหนึ่ง  เตรียมเทียนทำน้ำมนต์ไว้ ๑ เล่ม ติดไว้ที่ขอบขันน้ำมนต์ให้แน่น  เตรียมใบเงินใบทองใส่ลงในขันน้ำมนต์  ถ้าหาไม่ได้จะใช้ดอกบัวแทนก็ได้  แต่ไม่ควรใช้ดอกไม้อื่นแทน

บาตรน้ำมนต์และมัดหญ้าคาสำหรับใช้ประพรมน้ำมนต์

"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

ส่วนเครื่องประพรมน้ำมนต์นิยมใช้ "หญ้า" ที่มัดเป็นกำแล้วตัดปลายและรากทิ้ง ยาวประมาณ ๑ ศอก เพราะเชื่อกันว่าหญ้าคาเป็นหญ้ามงคล  ตอนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณก็ทรงประทับนั่งบนมัดหญ้าคา (เรียกว่า "รตนบัลลังก์") ซึ่งถวายโดยโสตถิยพราหมณ์  แม้แต่ในศาสนาพราหมณ์ก็ถือว่าหญ้าคาเป็นหญ้ามงคลเช่นกัน โดยเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เทวดากับอสูรแย่งน้ำอมฤตจนทำให้น้ำตกลงมาในโลกมนุษย์ แล้วเกิดเป็นหญ้าคา  แต่ถ้าไม่สามารถหาหญ้าคาได้ก็อนุโลมให้ใช้อย่างอื่นแทน เช่น ใบมะยม

การสวดมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์นั้นเป็นที่นิยมทั้งในพิธีราษฎร์ พิธีหลวง และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้  แม้ว่าในยุคหลังจะมีพระสงฆ์ "กลุ่มปฏิรูป" (เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ) ออกมาปฏิเสธ โดยมีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่เน้นหนักไปที่เรื่องของศีล-สมาธิ-ปัญญา แต่การทำน้ำมนต์และรดน้ำมนต์ก็ยังเป็นที่นิยมของชาวบ้าน ซึ่งบางครั้งก็เป็นพระสงฆ์กลุ่มปฏิรูปเองนี่แหละที่ชาวบ้านอยากได้ของดีจากท่าน

พิธีมงคลสมรส บ่าวสาวรับประพรมน้ำมนต์

"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

พิธีฟังเจริญพระพุทธมนต์ หลังฟังจบก็จะมีพิธีประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

"น้ำมนต์"ศักดิ์สิทธิ์จริง!!!หรือแค่!ที่พึ่งพิงทางใจ

อย่างไรก็ตาม  พระพุทธมนต์ที่ใช้สวดนั้นก็มีธรรมะเป็นสาระและมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการปฏิบัติตาม  และสำหรับคนที่ยังมีความเชื่อในเรื่องน้ำมนต์อยู่ อย่างน้อยก็ทำให้สบายใจและทำให้จิตใจไม่เหินห่างจากพระรัตนตรัยโดยอาศัยน้ำมนต์เป็นสื่อกลาง  แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องไม่ละทิ้งการปฏิบัติตามหลักศีล-สมาธิ-ปัญญาของพุทธศาสนาด้วย ดังที่อาจารย์สุชีพได้กล่าวไว้ว่า

"ทำความดีก็ทำ น้ำมนต์ก็รด ก็จะทำให้มีความหวัง ได้ประสบผลดีอันเนื่องจากผลของคุณความดี ... แต่ไม่ควรจะเดือดร้อนเพราะหาน้ำมนต์มารดไม่ได้"


ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก

http://m.tnews.co.th/contents/200775

.www.google.co.th

แชร์