การใส่ร้ายคนอื่นมีผลกรรมอย่างไร?
การใส่ร้ายคนอื่นมีผลกรรมอย่างไร? การวิเคราะห์ทางปรัชญา ทฤษฏีระบบ และ ทางศาสนา http://winne.ws/n16523
“...ก่อนพูดถึงผลกรรม เราลองมาดูก่อนว่าถ้าเราใส่ร้ายคนอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับคนถูกใส่ร้ายบ้าง
ในโลกที่เต็มไปด้วยการเร่งรีบ ไม่มีใครอยากให้เวลาเอาใจใส่รายละเอียดของเรื่องรอบตัว [ปัญหาปัจจัย] ทุกคนจะยินดีรับรู้เฉพาะภาพใหญ่ภาพรวม อย่างข่าวหนังสือพิมพ์นั้น คนอ่านมักอ่านแค่หัวข้อข่าว ไม่ค่อยอ่านรายละเอียด ดังนั้นพาดหัวข่าวไว้อย่างไร คนก็รับรู้แค่นั้น เช่นถ้ามีคำว่านายจุดจุดโกงเงิน คนจะจำเอาไปพูดกันว่านายจุดจุดขี้โกง น้อยคนจะเข้าไปอ่านรายละเอียดว่านายจุดจุดเพิ่งโดนข้อหา และเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งเท่านั้น ยังมีผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆอยู่ด้วย แต่เผอิญนายจุดจุดเป็นคนดัง จึงได้รับเกียรติพาดหัวข่าวเป็นการดึงดูดความสนใจจากประชาชน [ปัญหาทุกข์ร้อน]
พอนายจุดจุด โดนสังคมพิพากษาแล้วว่าเป็นคนขี้โกง ทั้งรูป ทั้งชื่อแซ่ ทั้งตำแหน่งการงานถูกตีพิมพ์หรา ก็เป็นอันว่าจบเห่กัน ชีวิตป่นปี้หมด เห็นชัดเป็นลำดับๆไปทีเดียว [ปัญหาสืบเนื่อง]
อันดับแรก สมมุติว่านายจุดจุดรู้แก่ใจว่าเขาไม่ได้โกง ไม่ได้เป็นคนทำ และไม่ได้เป็นตัวการเบื้องหลัง แต่ซวยสุดขีดที่หลักฐานเบื้องต้นชี้มาทางเขา จะพลอยร่างพลอยแห หรือเกิดขึ้นจากฝีมือของคนหาแพะก็ตาม นายจุดจุดจะต้องลิ้มรสความขมขื่นที่ไม่มีใครเข้าใจ คนเราไม่ได้โกง แต่ถูกตราหน้าว่าโกงจากคนทั้งแผ่นดิน ส่วนใหญ่โดนเข้าอย่างนี้เกือบร้อยทั้งร้อยจะอยากฆ่าตัวตาย หดหู่ ซึมเศร้า ทรมานใจจนนอนไม่หลับ หรือหลับแล้วฝันร้ายติดๆกันไม่เว้นแต่ละคืน
อันดับ ต่อมา งานปัจจุบันคงเสียไปแน่ๆ เพราะไม่มีบริษัทไหนสังกัดใดอยากยืดอกรับประกันว่านายจุดจุดเป็นส่วนหนึ่ง ที่น่า���ูมิใจของตน อย่างไรก็ต้องประกาศปลดกลางอากาศไว้ก่อน เพื่อเรียกความมั่นใจจากลูกค้ากลับมา นายจุดจุดกลายเป็นคนตกงาน ขาดรายได้กะทันหัน และคงจะยังหางานใหม่ไม่ได้ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าสังคมจะลืมข่าว
อันดับสุดท้าย พ่อแม่พี่น้องของนายจุดจุดจะต้องเสียใจ เสียชื่อตระกูล และพากันเสียความเชื่อถือนายจุดจุดอย่างรุนแรง เพื่อนสนิทมิตรสหายก็จะต้องมองนายจุดจุดแปลกๆ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ถึงมีน้ำใจอยากปลอบประโลม ก็ต้องชักขาไว้ข้างหนึ่ง ไม่อยากเสี่ยงกระโดดมายืนประกบข้างนายจุดจุดสนิทนัก
อันนี้เป็นภาพขยาย ใหญ่สุดที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน กล่าวคือถ้ามีการใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงทางหนังสือพิมพ์ จะด้วยประสงค์ร้ายเป็นส่วนตัว หรือด้วยการทึกทักเอามันไว้ก่อน หรือด้วยประสงค์หาแพะมารับบาป คนจะรับรู้กันทั่วประเทศ และอาจเกิดเสียงพึมพำด่าทอไปทั่วทุกย่านร้านตลาด
สรุปคือการใส่ร้ายนั้น ทำให้ผู้ถูกใส่ร้ายเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ส่วนจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของเรื่องราว และขึ้นอยู่กับชนิดของสื่อที่ขยายผลให้เกิดการรับรู้กว้างไกลเพียงใด ยิ่งเรื่องเข้มข้น ยิ่งการรับรู้กว้างไกล ก็ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น
คราว นี้สมมุติว่าเดือนต่อมา คนเริ่มซาๆเสียงด่านายจุดจุดกันแล้ว ลืมๆนายจุดจุดกันแล้ว ก็เกิดจับตัวการใหญ่ขึ้นมาได้ และไม่เกี่ยวอะไรกับนายจุดจุดเลย แม้เป็นข่าวขึ้นมาอีก ก็จะมีอาสาสมัครน้อยคนนำไปบอกต่อเพื่อให้เกิดการพึมพำทั่วทุกหัวระแหง พูดง่ายๆว่าตอนคนจะเหม็นนั้นเต็มใจร่วมด้วยช่วยกันกระพือให้กลิ่นฟุ้งออกไป ทั่วๆ แต่ตอนคนจะหอมหรือสะอาดดังเดิม อย่างมากแค่อุบอิบมุบมิบหรือไม่พูดเลยสักแอะ นี่แหละความจริงประจำโลก
และ นั่นก็แปลว่านายจุดจุดในความทรงจำของคนส่วนใหญ่ จะยังคงเป็นตัวโกงชั่วนิรันดร์ เพราะข่าวความสะอาดนั้นไม่ค่อยเด่นสะดุดตา คนมองไม่ค่อยเห็น ต่อให้ได้อ่านข่าวว่านายจุดจุดพ้นมลทิน กระนั้นภาพตัวโกงของนายจุดจุดก็จะยังปรากฏรางๆอยู่ในความทรงจำของผู้คนต่อไป อยู่ดี อย่างน้อยก็ต้องระแวงแคลงใจว่าใช้วิธียัดเงินใต้โต๊ะให้พ้นมลทินหรือเปล่า มีใบสั่งจากผู้ใหญ่ของบ้านเมืองช่วยเหลือหรือเปล่า
สรุปคือคนถูกใส่ร้าย นั้น จะมีภาพเปื้อนมลทินที่ตามแก้ยากมาก คนไม่รู้จักกันพอฟังว่านายจุดจุดเลวปุ๊บ ความรู้สึกว่านายจุดจุดเลวจะประทับแน่นลงในใจทันที กว่าจะลบภาพร้ายได้ต้องใช้กำลังมากกว่าผู้ให้ข่าวหลายเท่า เช่นอาจต้องอาศัยคนอื่นอีก ๓ ถึง ๑๐ รายมาช่วยกันยืนยันว่านายจุดจุดเป็นคนดี ภาพนายจุดจุดเป็นคนเลวจึงจะหายไปจากใจคนรับข่าวได้สนิท
คราวนี้มาพูดถึง ผลกรรมของพวกชอบใส่ร้าย คุณคงคิดว่าทำคนอื่นให้ทุกข์อย่างไร คลื่นความทุกข์แบบนั้นๆก็คงย้อนกลับมาหาตัว ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ความจริงไม่ใช่แค่นั้นครับ ขอแจกแจงเป็นข้อๆถึงผลที่อาจเป็นไปได้ดังนี้
๑) หากคนถูกใส่ร้ายเป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้มีพลังแห่งศีลสัตย์คุ้มตัว ผลคือจะทำให้ผู้ใส่ร้ายโดนใส่ร้ายคูณสองคูณสิบ หรืออาจคูณร้อยคูณพันเข้าไปจากที่ทำ และในเวลาอันรวดเร็วทันตาด้วย เนื่องจากการใส่ร้ายโดยมากมักอาศัยใจที่หลงผิดหนักแน่น ประกอบด้วยโทสะรุนแรง พอเจอภาคขยายอย่างใหญ่เข้าด้วยอย่างนี้ เลยไม่ค่อยจะต้องรอดูผลกันในชาติหน้าไกลตัวกัน
๒) เป็นผู้มีปากเหม็น หรือกลิ่นตัวเหม็น หรือโทษสถานเบาที่สุดคือเวลาพูดจาจะดูน่ารังเกียจ เพราะความร้ายกาจจะแพลมออกมาทางสีหน้าและแววตา แม้บุญเก่าส่งให้มีปากหอม กลิ่นกายหอม และกิริยาท่าทางน่ารักน่าใคร่ แต่หากเพาะนิสัยใหม่ ชอบใส่ร้ายคนอื่นอย่างต่อเนื่องเป็นแรมปี คุณสมบัติด้านดีเดิมๆก็จะพลิกเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามได้อย่างน่าทึ่ง
๓) เป็นผู้มีวาจาขาดน้ำหนัก คือต่อให้มีอำนาจล้นฟ้าปานใด หากติดนิสัยชอบใส่ไคล้แล้ว คนทั่วไปฟังเขาพูดแล้วจะรู้สึกเลยว่าไม่อยากเชื่อถือ แม้พูดเรื่องธรรมดาอย่างที่สุด ก็คล้ายขาดอะไรที่ทำให้อยากปลงใจยอมรับ
๔) เบื้องหน้าหลังตายจากความเป็นมนุษย์ หากกรรมที่ชอบใส่ร้ายชาวบ้านมีน้ำหนักล้ำหน้ากรรมอื่นๆ ก็จะไปเสวยอัตภาพอันน่ารังเกียจ และตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสียดแทง เร่าร้อนทรมาน เพราะจิตที่คิดประทุษร้ายด้วยการใส่ไคล้นั้น มีลักษณะเสียดแทง ต้องการให้ผู้ถูกใส่ไคล้เดือดร้อนในทางใดทางหนึ่ง นี่คือกฎธรรมดา จิตมีกิริยาในการก่อเหตุอย่างไร ก็เท่ากับเข้าไปยึดภพแห่งความเป็นเช่นนั้น ภพที่ต้องรับผลทำนองนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ
ขอให้ทราบว่า ๔ ข้อข้างต้นนี้เป็นเพียงผลที่ว่ากันตามหลักการ ส่วนของจริงจะได้รับโทษานุโทษมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ต้องดูรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละราย เช่นประพฤติด้วยความละอายหรือไม่ละอาย ประพฤติเป็นอาจิณหรือถูกสถานการณ์บังคับเป็นคราวๆ ประพฤติด้วยความอาฆาตพยาบาทหรือด้วยความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ฯลฯ
อย่าง เช่นถ้าใครใส่ร้ายผู้ทรงศีลโดยปราศจากความละอายอยู่เรื่อยๆเพราะความมีใจ ริษยา ผลก็อาจสนองคืนอย่างรวดเร็วและดูรุนแรงเกินเหตุ คือไม่ใช่แค่ถูกคนอื่นใส่ร้ายคืน แต่อาจลุกลามไปถึงขั้นเกิดความวิบัติแก่ชีวิตหลายๆประการ อย่างสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว ตัวอย่างคนใส่ร้ายพระพุทธเจ้าโดนพิบัติภัยทางธรรมชาติลงโทษถึงขั้นสิ้นชีพ กะทันหัน
เศษของกรรมที่ใส่ร้ายคนอื่นจนติดเป็นนิสัยนั้น ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลรูปชีวิตที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ กล่าวคือมีอายุสั้น มีผิวพรรณทราม ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องไม่เป็นสุข และเป็นผู้มีกำลังน้อย
พอทราบว่าหนึ่ง ในผลของกรรมคือจะต้องเป็นผู้ถูกใส่ร้ายคืนบ้าง รู้อย่างนี้แล้วลองมองย้อนกลับไปหานายจุดจุด ก็ต้องสรุปว่านายจุดจุดคงเคยเล่นคนอื่นไว้ก่อนนั่นเอง หาใช่ความบังเอิญที่ใครจะถูกใส่ร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนเอาดื้อๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นข่าวใหญ่โตขนาดอับอายขายหน้าประชาชีไปทั่วบ้านทั่วเมือง นายจุดจุดต้องเคยทำคนอื่นเดือดร้อนสาหัสไว้เช่นกัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องฉายภาพย้อนอดีตชาติ นายจุดจุดจึงดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว น่าเห็นใจอย่างเดียว [ปัญหาเป้า และ องค์ประกอบของปัญหาเป้า]
มีคน โดนใส่ร้ายกันทั้งบ้านทั้งเมือง บางคนโดนประจำ มีความสม่ำเสมอราวกับเจอดอกเบี้ยพิเศษ อันนี้ก็สะท้อนความจริงอย่างหนึ่งครับ คือแทบทุกคนอยู่ในวงจรแห่งการใส่ไคล้ ว่าร้าย เอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น จะโดยเผลอตัว จะโดยตามกระแสชักจูง หรือจะโดยเจตนาหนักแน่นของตนเองก็ตามที ทำอยู่เรื่อยๆก็โดนกันอยู่เรื่อย ซัดกันไปซัดกันมาในหมู่มนุษย์นี้แหละ
คำติฉินนินทาและการพูดให้ร้ายนั้น เข้าหูคนฟังได้ง่ายกว่าเรื่องดีๆ แล้วก็มีความมันในอารมณ์ มีอารมณ์ร่วมที่จะสนุกกับการจามกันด้วยขวานในปาก จึงมีแนวโน้มจะติดใจทำบ่อยๆ พอทำอะไรบ่อยก็กลายเป็นการติดนิสัย ฉะนั้นอย่าเริ่มต้นเลยเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อเริ่มแล้วคุณจะไม่มีวันคาดการณ์ได้ว่ามันจะพัฒนาบานปลายไปถึงไหน ของพรรค์นี้เข้าง่ายออกยาก ถอนตัวลำบากครับ
มูลรากของการใส่ร้ายมา จากอคติ อคติมีบ่อเกิดมาจากความเกลียดชังและความริษยา ฉะนั้นในเบื้องต้นสำหรับคนต้องการถอนตัวจากวงจรใส่ร้าย ก็ควรกำหนดความตั้งใจไว้ตายตัวว่า [หน่วยระบบทำงาน] แม้จะเกลียดชังหรือริษยาใครอย่างห้ามใจด่าทอไม่ได้ ก็ต้องไม่เผลอพูดถึงเขาคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่คุณรู้ คือถ้าอดไม่ได้ที่จะด่าทอหรือนินทา ก็ต้องยืนพื้นอยู่บนข้อมูลที่แน่ใจว่าถูกต้อง ปราศจากการใส่สีตีไข่เสมอ
เมื่อ ฝึกตนพูดถึงใครๆ ตามจริงโดยไม่บิดเบือนข้อมูลได้สำเร็จ ก็จะสามารถเห็นโทษของจิตใจประทุษร้ายแม้ด้วยทางวาจา ว่าให้ผลเป็นความทุกข์ ความอึดอัด ความคับข้องแก่ตนเอง จิตคุณจะอยากขยับขึ้นมาอีกขั้น คือไม่พูดว่าร้ายใครเลย เพื่อความปลอดโปร่งจากภัยเวรอย่างสิ้นเชิง หากต้องตำหนิใครก็จะอยู่ในกรอบของระบบหน้าที่การงาน ตำหนิด้วยใจเป็นกลาง หวังประโยชน์ส่วนรวม และเป็นไทจากอคติทั้งปวงครับ…” อ้างอิงที่มาจาก
http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=5587)ทีนี้ในความเห็นส่วนตัวของขอเพิ่มแง่คิดมุมมองอีกด้านนึง
“การดำเนินชีวิตของคนเรา” นั้นนับได้ว่ามีคุณสมบัติของความเป็น “หน่วยระบบ” (System) ครบทุกประการตามหลักการของทฤษฎีระบบ (Systems Theory) โดยคุณสมบัติสำคัญของหน่วยระบบแต่ละหน่วย คือ (1) เป็นหน่วยทำงาน (2) มีโครงสร้าง, หน้าที่ , ขอบเขต (3) มีบริบทแวดล้อม (4) มีปัจจัยนำเข้า (5) มีกระบวนการทำงาน (6) มีผลผลิต (7) มีผลย้อนกลับ (8) มีหน่วยระบบสืบเนื่อง (9) มีหน่วยอนุระบบและหน่วยอภิระบบ (10) มีประสิทธิภาพการผลิต และ (11) มีการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการ (อ้างอิง: ศ.ดร.เฉลียว บุรีภักดี และ คณะ- คณะกรรมการประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์: http://www.nsru.ac.th/strategy) ซึ่งหน่วยระบบของเรานั้นก็จะดำเนินไปอย่างสืบเนื่องด้วยอนุระบบ (Subsystem) ที่เราสร้างขึ้นมาเอง เช่น อนุระบบการทำงาน คือ เราต้องหางานทำหรือต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเอง เป็นต้น โดยที่อนุระบบการทำงานของเรานั้น จะไปเป็น “เครือข่าย” หน่วยระบบของหน่วยระบบอื่นซึ่งมีผลกระทบกับหน่วยระบบนั้น เช่น อนุระบบการทำงานของเราเป็นเครือข่ายหน่วยระบบบริษัทที่มีอนุระบบเครือข่ายจากพนักงานบริษัทมากมาย หากหน่วยอนุระบบพนักงานต่างๆ เหล่านั้นทำงานได้ “ผลผลิต” ที่มี “ประสิทธิภาพการผลิต” แล้วก็จะทำให้หน่วยระบบของบริษัทนั้น “มีการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการ” ที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามแล้ว หากหน่วยอนุระบบเครือข่ายจากพนักงานบริษัทมากมายนั้นทำงานได้ “ผลผลิต” ที่มี “ไม่มีประสิทธิภาพการผลิต” แล้วก็จะทำให้หน่วยระบบของบริษัทนั้น “มีการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการ” ที่ลดลง หรือ เสียโอกาสในการพัฒนานั่นเอง
เมื่อย้อนกลับมาคิดถึงหน่วยระบบทำงาน “การดำเนินชีวิตของคนเรา” แล้วก็จะมีหน่วยอนุระบบต่างๆ มากมายที่รายล้อมเป็น “บริบท” ของตัวเรา และหน่วยอนุระบบนั้นก็มี “กระบวนการทำงาน” (Process) เพื่อให้ “มีผลผลิต” (Output) แล้วส่งมาให้หน่วยระบบเรากลายเป็น “ปัจจัยนำเข้า” (Input) ของหน่วยระบบเรา ดังนั้น หากปัจจัยนำเข้านั้นเป็นสิ่งที่ดีก็จะทำให้หน่วยระบบทำงานของเราดีขึ้นด้วย หรือ หากปัจจัยนำเข้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้วก็จะทำให้หน่วยระบบทำงานของเราด้อยประสิทธิภาพได้ เช่น หน่วยอนุระบบ “การใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น” ของหน่วยระบบทำงานคนอื่นได้ส่งเข้ามากระทบหรือเข้ามาเป็นเครือข่ายของหน่วยระบบทำงานของเราแล้วก็ย่อมส่งผลให้หน่วยระบบทำงานของเราเกิด “การเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการ” ที่ไม่ได้รับการพัฒนา เพราะหน่วยระบบทำงานของเจ้านาย หรือ หน่วยระบบทำงานของผู้ใกล้ชิด ก็จะได้รับ “ผลผลิต” (ผลการทำงาน) จากหน่วยระบบทำงานของเรา “ในทางที่ไม่ดี” (ผลผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ) นำเข้าไปสู่ “กระบวนการทำงาน” คือ การตัดสินใจ ที่จะผลิต (ผลการตัดสินใจ) ว่าเราไม่มีประสิทธิภาพ หรือ เป็นคนไม่ดี นั่นเอง
ซึ่งเป็นการยากที่เราจะไปยับยั้งหรือหยุด “หน่วยอนุระบบ” ของหน่วยระบบอื่นๆได้ เช่น หน่วยอนุระบบ “การใส่ร้ายป้ายสี” ของผู้อื่น ดังนั้น ตามหลักพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ชาวพุทธเรามีความเชื่อว่า “กรรมใดใครก่อกรรมนั้นย่อมตอบสนอง” ซึ่งกรรมนั้นถือว่าเป็นหน่วยอนุระบบที่ “ถูกสร้างขึ้น” (ไม่สร้างก็ได้ก็จะไม่เกิด) หากเป็นกรรมดีหรือหน่วยอนุระบบดีแล้วก็จะตอบสนองต่อชีวิตของคนหรือหน่วยระบบการดำเนินชีวิตคนเรา ให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
ผู้เขียนได้เกริ่นนำมาสังเขปแล้ว จึงขออนุโมธนาบุญแก่ “คุณบุญโต” ที่ได้เผยแพร่ข้อความ (http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=5587) ที่ทำให้เกิด “ซึ้งในพระธรรม” เรื่อง “การใส่ร้ายคนอื่นมีผลกรรมอย่างไร?” ซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายมากมายแก่ผู้ถูกใส่ร้ายและครอบครัว เพื่อที่จะได้เป็นอนุสติแก่ผู้ที่คิดจะสร้างกรรมหรืออนุระบบที่ไม่ดีขึ้นมา และเป็นอานิสงส์ต่อตนเองผู้คิดร้ายสืบไป และเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหา [ปัญหาปัจจัย] ความทุกข์ที่เกิดขึ้น [ปัญหาทุกข์ร้อน] และ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา [ปัญหาสืบเนื่อง] ของหน่วยระบบ และ จุดที่จะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขปัญหานั้น [ปัญหาเป้าและองค์ประกอบของปัญหาเป้า] นอกจากนี้จะได้ทราบแนวปฏิบัติแก่ตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหานั้น [หน่วยระบบทำงาน] ตามทฤษฎีระบบด้วย
ที่มา: postjung.com และ
http://www.gotoknow.org/posts/496814