คำธรรม "อาสวะ"...ความจริงที่เรายังไม่รู้

อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา คำว่าอวิชชาก็คือ ความไม่รู้ความจริงของชีวิตว่าเป็นเพียงกองแห่งขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าเป็นเพียงธาตุที่ว่างเปล่า หรือปกปิดไม่ให้เห็นความจริง ๔ อย่าง (อริยสัจ ๔) มีความจริงของทุกข์ http://winne.ws/n24852

1.1 หมื่น ผู้เข้าชม
คำธรรม "อาสวะ"...ความจริงที่เรายังไม่รู้

อาสวะ...ความจริงที่เรายังไม่รู้

สำหรับวันนี้ผมจะมาพูดเรื่องของหลักธรรมสำหรับชาวบ้านสักหน่อย แต่ไม่ได้เป็นหลักธรรมเพื่อการหาเลี้ยงชีพนะครับแต่เป็น “หลักธรรมเพื่อการรู้ธรรม” 

คือหลายวันมานี่ผมเขียนเรื่อง “ตามความคิด”ของผมเองไม่ได้มีการอ้างอิงหลักฐานข้อมูลในคัมภีร์มากมายหรือไม่มีเลยเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ผมเขียนมาตามแนวที่ว่านั้นเป็น “แนวคิดผมล้วนๆ”ไม่ได้เป็นแนวคิดของคนอื่นหรือคัมภีร์อื่นมาปะปนเลยสักนิดเดียว 

อาศัยว่าจะแสดงทัศนะแบบสดๆกับเขาสักหน่อยหลังจากที่ได้เห็นหลายท่าได้ไลฟ์สดกันมามากแล้ว ผมก็เลยคิดว่าจะเขียนตามความคิดแบบสดๆดูบ้าง

สำหรับหลักธรรมเพื่อการรู้ธรรมที่ว่านั้นก็คือ “อาสวะ” ในภาษาธรรมะหมายถึง กิเลสที่หมักหมม หรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตต์เมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ๒๕๔๖: ๖๐๖) มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ   (๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓ เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘)

ดังที่ผมได้บอกไปแล้วว่า วันนี้ผมจะพูดหลักธรรมะเพื่อการรู้ธรรมในภาษาชาวบ้านจะไม่พูดหลักธรรมในภาษาพระเพราะอะไรนั่นหรือครับก็เพราะว่าเวลาพูดธรรมะในภาษาพระแล้วก็มักจะทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจวันนี้เลยอยากมาพูดอะไรแบบง่ายๆ เข้าใจง่ายและเกิดความรู้อย่างง่ายๆครับไม่ต้องคิดมาก

อาสวะ..พูดอย่างไรให้เข้าใจง่าย ?

เมื่อพูดถึงอาสาวะตามความเข้าใจของชาวบ้านนั้น ถามว่าจะมีสักกี่คนที่เข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง จะมีเฉพาะพวกมหาเปรียญอย่างพวกผมที่ร่ำเรียนมาจึงจะพอกล้อมๆแกล้มๆทำความเข้าใจได้บ้าง ตามความหมายของภาษาบาลีที่ปราชญ์ท่านนิยามเอาไว้ก็คือ  “กิเลสที่หมักหมม หรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตต์เมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ” 

ฟังดูเป็นตาเข้าใจยากอยู่นะครับ สำหรับผมความหมายง่ายๆก็คือ อาสาวะ หมายถึง กิเลสที่ฝังอยู่ในจิตติดแน่นอยู่ในจิตใจของเรา เมื่อถูกอารมณ์คืออายตนะมากระทบจิตก็จะออกมาย้อมจิตหมายถึงมาทำให้จิตเกิดความรู้สึกหรือเกิดกิเลสใน ๓ ประการก็คือ 

(๑) โลภะ คืออาสวะทำให้เกิด ความโลภ อยากได้ของคนอื่น

 (๒) โทสะ อาสวะออกมาทำให้เกิดความโกรธ คือ โทสะ โมโหร้าย 

(๓) โมหะ อาสาวะ ออกมาทำให้เกิดความหลง ตราบใดที่อาสาวะยังไม่หมดสิ้นไป ตราบนั้น กิเลสก็ยังไม่สิ้นไปจากจิตของเรา 

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ทำการกำจัดอาสาวะให้สิ้นไปเสีย เมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เราก็จะกลายเป็นพระอรหันต์ จิตใจก็จะปลอดโปร่งไม่มีกิเลสมารบกวนเป็นอิสระเพราะปลอดจากกิเลสนั่นเอง

อาสวะมีกี่อย่าง คืออะไรบ้าง ?

ผมว่าเอาแบบง่ายๆ ในคัมภีร์บอกว่ามี ๓ อย่างบ้าง ๔ อย่างบ้าง แต่จะสรุปแจกแจงให้ละเอียดก็คือมีอยู่ทั้งหมด ๔ อย่าง ได้แก่ 

(๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม 

หมายถึง กิเลสที่ติดอยู่ในจิตใจเราประเภทหนึ่งก็คือ “กาม” แปลว่าความใคร่ ความอยากได้ใคร่ดีทั้งหลาย ความอยากประเภทนี้ติดอยู่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจของเรามานานแสนนาน และกามนี้เองเป็นแรงขับทำให้มนุษย์ทำทุกอย่างทั้งที่เป็นสิ่งที่น่าดูและไม่น่าดูทั้งหลายในโลกนี้เพื่อผลที่ต้องการคือ วัตถุกาม และกิเลสกามในการที่จะนำสิ่งเหล่านั้นมาสนองความอยากของตนเองอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ผมว่า กามาสาวะนี่อันตรายมาก 

(๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ 

คำว่าภพ หมายถึง ภาวะชีวิตของสัตว์ หรือการเกิดของสัตว์ที่เวียนว่ายในภพทั้ง ๓ คือ ๑. กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ ๒. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน ๓. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน ถามว่าภพเป็นอาสาวะอย่างไร คำตอบก็คือ เหตุที่ภพเป็นอาสาวะเพราะการเกิดของสัตว์นั้นเป็นไปตามกรรมเรียกว่ากรรมภพ เมื่อเกิดมาแล้วได้ทำกรรมไว้อย่างไรกรรมดีก็ไปสวรรค์กรรมชั่วก็ไปนรก 

การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์นี้ถือว่าเป็นอาสวะคือสิ่งที่ติดอยู่ในจิตของเรา เมื่อตายไปกรรมใดมากก็จะนำไปเกิดในภพภูมิที่เหมาะสมกับกรรมนั้น หากมนุษย์เรามีการกำจัดภวาสาวะได้ก็จะไม่มีการเกิดอีก คือบรรลุนิพพานนั่นเอง อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆตามภาษาชาวบ้าน

(๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ

คำว่าทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น หรือทฤษฎีปรัชญา หลักคำสอนหรือความเชื่อต่างๆที่เราเห็นด้วยและเชื่อมั่นในความเห็นนั้นๆความเห็นเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่ายแต่ความเป็นจริงแล้วมันยาก พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงตรัสว่า ความเห็น(ทิฏฐิ)ถ้าใครลองได้เชื่ออย่างจริงๆจังๆไปแล้วไม่อาจจะถอนหรือให้เลิกเชื่อในสิ่งนั้นความคิดนั้นได้ง่ายๆ 

เอาแบบชาวบ้านๆนี่เวลานั่งกินกาแฟคุยกันกับเพื่อนๆบางเรื่องเวลาเห็นต่างกันแล้วก็เถียงกันจนคอโก่งเป็นไก่ขันตอนเข้า ไม่มีใครยอมใครยกตัวอย่างเรื่องการเลือกข้างทางการเมือง ลองให้กลุ่มสีเหลืองกับสีแดงมาคุยกันสิมันเถียงกันทั้งวันไม่มีใครยอมใคร ที่สุดอาจจะรุนแรงถึงขั้นยิงกันตายไปข้างก็ได้ 

นี่ไงครับคือความเห็นหรือความเชื่อในความเห็นข้างใดข้างหนึ่งอย่างสุดโต่ง ถามว่าแต่ละคนแต่ละฝ่ายสามารถละวางยอมรับความเห็นของคนอื่นได้ไหม “ยากครับ”เมื่อเวลาได้เชื่อไปแล้วก็จะยึดอยู่อย่างนั้น บางคนถึงกับตายไปกับความคิดที่ตนเชื่อนั้นไปเลย ดังนั้น ทิฏฐิ หรือความเห็นจึงถือว่าเป็นอาสาวะอย่างหนึ่งที่แก้ได้ยาก

(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา 

ข้อนี้ชัดครับว่า อวิชชา คืออาสสาวะ คำว่าอวิชชาก็คือ ความไม่รู้ความจริงของชีวิตว่าเป็นเพียงกองแห่งขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าเป็นเพียงธาตุที่ว่างเปล่า หรือปกปิดไม่ให้เห็นความจริง ๔ อย่าง (อริยสัจ ๔) มีความจริงของทุกข์  เป็นต้น (พระพุทธโฆษาจารย์ : ๒๕๔๖: ๑๑๙) 

เมื่อไม่รู้ย่อมทำให้เกิดการปรุงแต่ง(สังจาร)ไปต่างๆนานา ซึ่งการปรุงแต่งนั้นก็เป็นไปเพื่อการก่อให้เกิดทุกข์ (ดูในเรื่องปฏิจจสมุปบาท วิ.ม. (ไทย) ๔/๑,๒,๓/๒,๔,๖, ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๐๒,๔๐๔,๔๐๕/๙๗-๙๙,๔๓๙,๔๔๑, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๒๑๖/๑๖๕, สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๑,๒,๓,๔,๑๐,๑๕,๑๘,๒๑-๒๒,๒๗,๓๓,๓๕-๓๗,๔๑,๔๗-๔๘,๖๑/๒-๓,๘,๙,๑๓,๑๖,๒๕,๓๑,๓๘-๓๙,๕๔-๕๕,๗๒,๗๕-๗๙,๘๖,๙๔-๙๕,๑๑๖, สํ.ม .(ไทย) ๑๙/๑๐๒๔/๕๔๕, องฺ. ทสก. (ไทย) ๒๔/๙๒/๒๑๕, ขุ.อุ. (ไทย) ๒๕/๒-/๑๗๒-๑๗๕, ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๒๗/๑๑๓, 

ขุ.จู. (ไทย) ๓๐/๔,๘๘,๑๒๑/๕๖,๓๑๓,๓๙๘.) ในอภิธรรม ยังกล่าวถึงอวิชชา ว่าหมายถึงความไม่รู้ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีต อนาคต และทั้งอดีตและอนาคต  ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทคือความไม่รู้ว่ารูปนามเกิดจากเหตุ คือความไม่รู้ว่า ร่างกายของสัตว์มีตาเป็นต้น 

อีกอย่างคือความไม่รู้ว่า ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายไม่มีอะไรอื่นนอกจากธรรมที่เป็นเหตุและผล อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าสร้าง (พระสัทธัมมโชติกะ:๒๕๒๑:๓๑-๓๓.) 

คำธรรม "อาสวะ"...ความจริงที่เรายังไม่รู้Youtube

ความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตจนพอจะทำลายกิเลสได้ กล่าวคือความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ อันเป็นความจริงของโลกและชีวิต  ซึ่งความไม่รู้ที่เรียกว่า “อวิชชา” นี่แหละเป็นเหตุให้ทำกรรม  ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดและเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป   

เพราะอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงย่อมทำให้สัตว์ทั้งหลายลุ่มหลงในวัตถุคืออารมณ์ทั้งหลาย และพร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่เป็นปัจจัยหนุนเนื่องให้เกิดเป็นสังขาร ที่กล่าวมาจะพบว่าอวิชชานี่แหละที่เป็นอาสวะอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์แก่ชีวิตเรา

 สรุป อาสาวะ ๔ ประการนั้น ก็คือ

 (๑) ความอยาก ใคร่ได้ใคร่ดีไม่มีที่สุด

 (๒) ความเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจของกรรม 

(๓) ความเห็นผิดจากคลองธรรม 

(๔) ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นต้นทำให้เกิดความทุกข์เพราะการกระทำกรรมต่างๆที่ก่อให้เกิดทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด

คำธรรม "อาสวะ"...ความจริงที่เรายังไม่รู้www.dmc.tv

อาสาวะก่อให้เกิดทุกข์อย่างไร ?

ผมว่าผมจะอธิบายแบบชาวบ้านนะครับบรรดานักวิชาเกินทั้งหลายอย่าพึ่งแย้ง ว่า อาสวะ นั้นก่อให้เกิดทุกข์อย่างไร คำตอบคือ ถ้าเรายังมีความใคร่ อยากได้ อยากมี อยากดี อยากเป็น ทะเยอทะยานอยากได้มาครองอยู่แบบนี้ที่เป็นอยู่นี้ มันทุกข์แน่นอนไม่ต้องอธิบายมาก เช่น อยากได้สาวสวยมาครอบครองนี่นั่งคิดหลายตลบทำอย่างไรจะพิชิตใจของนางได้ 

โจทย์เพียงแค่นี้ก็ทำเอาทุรนทุรายไปหลายปีทีเดียว คือได้ก็สุข ไม่ได้ก็ทุกข์ แม้ได้มาก็ทุกข์เพราะต้องเลี้ยงดู สุขมีนิดหน่อยแต่ทุกข์ทั้งชีวิตก็เอาเพราะความอยากนี่แหละไม่ใช่อะไรอื่นถามว่ามันทุกข์ไหม ? คำตอบคือทุกข์ล้วนๆ นี่เอาแค่ข้อเดียวก็พูดเสียเห็นภาพเลย

แนวทางในการบรรเทาและกำจัดอาสาวะทำอย่างไร ?

เอาล่ะทีนี้ผมจะมาอธิบายหรือชวนคุยว่า พระพุทธเจ้าทรงแนะแนวทางให้เราแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอาสาวะอย่างไร เพราะพระพุทธศาสนายอมรับมานานแล้วว่าอาสาวะแก้ไขหรือกำจัดให้หมดไปสิ้นไปได้ โดยวิธีการหรือแนวทางในการบรรเทาและการกำจัดดังนี้ครับ

ก.แนวทางในการบรรเทาอาสาวะ สำหรับชาวบ้าน

การกำจัดอาสาวะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะการกำจัดเป็นการถอนกิเลสาสาวะนั้นต้องถึงขั้นบรรลุพระอรหันต์เลยทีเดียว สำหรับชาวบ้านเอาแค่ระดับการบรรเทาคือทำให้มันมีความเข้มข้นลดลงเท่านั้นก็คงจะพอโดยแนวทางในการบรรเทาอาสาวะระดับชาวบ้านก็มีดังต่อไปนี้


๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม การบรรเทาทำได้ด้วยการ

 (๑) รักษาศีล ๕ ให้ครบเป็นการควบคุมความรู้สึกและพฤติกรรมทางกายภายนอกก่อนเป็นเบื้องต้น

 (๒) ด้วยการพิจารณาเห็นคุณและโทษของกาม เมื่อเห็นคุณและโทษแล้วจะสามารถยับยั้งความต้องการหรือกามลงไปได้ทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม 

(๓) มีความสันโดษพอเพียงและพอประมาณในการบริโภคหรือแสวงหาทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม ไม่ลุ่มหลงมากเกินไป 

(๔) ฝึกฝนจิตใจผ่านการทำสมาธิทั้งสมถะและวิปัสสนากรรมฐานที่สอดรับกับจริตของตนเอง


๒.ภวาสวะ อาสวะคือภพ หมั่นทำความดี หรือสุจริต ๓ ได้แก่การทำความดีทางกาย วาจา และจิตใจ เพื่อสร้างมูลเหตุของการไปเกิดในภพภูมิที่เป็นสุคติ ซึ่งจะสามารถลดความทุกข์หรือสั่งสมอาสาวะฝ่ายชั่วได้ การไปเกดบนสวรรค์หรือมนุษย์ย่อมขึ้นอยู่กับการรักษาศีลและเจริญภาวนารวมถึงการมำความดีให้ถึงพร้อมนั่นเอง


๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ

  สำหรับแนวทางที่จะบรรเทาความเป็นมิจฉาทิฏฐิก็คือ การสร้างมูลเหตุของการเป็นสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการ คือ 

(๑) ปรโตโฆสะ คือการรู้จักการคบเพื่อนที่ดี

(๒) โยนิโสมนสิการก็คือการรู้จักการพัฒนาความคิดและสติปัญญาของตนเองอยู่เสมอ เท่านี้ก็สามารทถี่จะบรรเทาอาสาวะได้

 

๔.อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา 

สำหรับแนวทางในการบรรเทาอาสาวะประการสุดท้ายคือ อวิชชา นั้นก็สามารถที่จะทำได้โดยการสร้างมูลเหตุของอวิชาคือวิชชา คือความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความรู้อย่างวิเศษ ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาตนเองทางด้าน กายภาวนา สีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา 

ขั้นหยาบๆก็คือการศึกษาร่ำเรียนในด้านปริยัติ ขั้นละเอียดก็คือการปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกฝนจิตใจให้มีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในความจริงของชีวิตและโลกจนสามารถที่จะเข้าใจโลกได้โดยง่าย เมื่อจิตมีสติปัญญาแล้วย่อมเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริงคือการเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลนั่นเอง

(ข) แนวทางในการกำจัดอาสาวะของพระสงฆ์หรือพระอริยบุคคล 

จะต้องทำด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังและมีความซื่อตรงต่อตนเองเพื่อควบคุมกายและจิตให้เป็นสมาธิรู้และเข้าใจโลกอย่างแจ่มแจ้งด้วยการปฏิบัติธรรมทั้งแบบสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเมื่อทำถึงที่สุดแล้วก็จะสามารถกำจัดกิเลสได้

Cr.Naga King


ขอบคุณภาพและบทความธรรมะดี ๆจาก

เฟซบุ๊ก Naga King

แชร์