สผผ.– กทม.ร่วมลงนาม MOU เกี่ยวก้อยสร้างสุขสังคมเมือง

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน http://winne.ws/n29005

3.5 พัน ผู้เข้าชม
สผผ.– กทม.ร่วมลงนาม MOU เกี่ยวก้อยสร้างสุขสังคมเมือง

วันที่ 10 ส.ค.65 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ กรุงเทพมหานคร  โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ร่วมในพิธี จากนั้นได้ร่วมเสวนา "จับมือเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชน สผผ. & กทม." ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรุงเทพมหานครฉบับนี้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของทั้งสองหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน ใน 5 ด้าน คือ

1.ด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเร่งด่วน FAST TRACK OMB & BMA จะเป็นความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการประสานและลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ  โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ผู้ประสานงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสั่งราชการฝ่ายปกครองเป็นผู้ประสานงานระดับสำนักงานเขต และเลขานุการสำนักเป็นผู้ประสานงานระดับสำนัก โดยเข้าร่วมกลุ่มผ่านแอปพลิเคชันไลน์ LINE Official Account OMB FAST TRACK BMA เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อประสานงานระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งช่องทางการประสานงานอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นต้น สำหรับประชาชนที่ประสบปัญหา มีความเดือดร้อน หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย) 

2.ด้านการประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่และอำนาจของทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบการออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ พร้อมให้บริการปรึกษาปัญหาทางกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มุ่งเป้าจัดกิจกรรมทั่วทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาได้นำร่อง 4 เขต คือ เขตสวนหลวง ทวีวัฒนา ประเวศ ดินแดง ได้ผลตอบรับดีโดยเฉพาะการรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด  ประชาชนเกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานรัฐเข้าใจระบบ ระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม เขตภาษีเจริญ และวันเสาร์ที่ 24 กันยายน ที่เขตพระโขนง

3.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน  มุ่งสร้างเครือข่ายระดับชุมชนในรูปแบบกิจกรรมประชาชนคนทำดี จัดอบรมผู้แทนภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่เป็นกระบอกเสียงและผู้นำความคิดของชุมชนในหลายภาคส่วน อาทิ ประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข อปพร. แกนนำองค์กรชุมชนผู้นำสตรี ผู้นำศาสนา และชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งจะจัดกิจกรรมนำร่องในพื้นที่เขตสวนหลวงเป็นเขตแรก ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้

4.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับเยาวชน ร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายระดับเยาวชนในรูปแบบกิจกรรมเยาวชนคนดีเพื่อสังคมจัดกิจกรรม “เยาวชนคนดีเพื่อสังคม” อบรมให้ความรู้เยาวชนกว่า 100 คน จาก 50 เขตในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน  หวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้สามารถเป็นกระบอกเสียงและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาในชุมชนตนเองได้

5.การแก้ไขปัญหาส่งเสริมวินัยทางจราจรและทางม้าลาย โดยร่วมกับ สสส.ให้เป็นแกนหลักในการรณรงค์ ทั้งกลุ่มผู้ขับขี่ ห้างร้าน และประชาชนผู้เดินถนน

อ่านข่าวเพิ่มได้ที่ บ้านเมือง

แชร์