การปลูกผักในถุงดำ !!!

การปลูกผักในถุงดำ เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สามารถปลูกได้ในพื้นที่จำกัด การดูแลไม่ยุ่งยาก มีการนำมาปลูกเชิงพาณิชย์สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำทีเดียว http://winne.ws/n23840

5.8 พัน ผู้เข้าชม
การปลูกผักในถุงดำ !!!

การปลูกผักในถุงมีข้อดีกว่าการปลูกลงดินหลายอย่าง เช่น สามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ ใช้พื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร สามารถปลูกพืชผักได้มากกว่า 10 ชนิด สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย หรือจัดมุมตามที่ต้องการ

    ขั้นตอนการปลูกผักในถุง เริ่มจาก จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ประกอบด้วย ถุงดำ หน้าดิน ปุ๋ยหมัก ขุยมะพร้าวสับละเอียด เมล็ดพันธุ์พืชที่ต้องการปลูก วัสดุปลูกประกอบด้วย ปุ๋ยชีวภาพ 10% ดินที่ผ่านการหมักกับใบก้ามปูแล้ว 30% ทรายขี้เป็ด 40% ขุยมะพร้าว 20% สำหรับถุงดำที่ใช้ปลูกต้องเจาะถุงเพื่อเอาสายยางระบบให้น้ำเสียบได้ที่ความลึกจากผิวดินปากถุงประมาณ 3 เซนติเมตร และควรให้น้ำด้วยระบบหยด ถุงดำที่เหมาะสมควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 6 นิ้วสูง 7 นิ้วขึ้นไป มีรูด้านข้างถุงอย่างน้อย 4 รู

    จากนั้นเตรียมค้างเพื่อให้พืชผักที่ปลูกไต่เลื้อย สำหรับพืชตระกูลแตง เช่น บวบ แตง ฟัก น้ำเต้า มะระ ตำลึง ซึ่งมีมือจับเกาะยึดและทำหน้าที่ค้ำยันเถา พืชเหล่านี้มีเถาเลื้อยคลุมและมีแขนงมาก ต้องมีค้างที่มีที่จับเกาะมากหน่อย โดยใช้ไม้ไผ่ที่มีลำต้นตรง ความยาว 2.5 เมตร ปักตั้งฉากกับพื้นดินให้ลึกลงไปในดิน 50 เซนติเมตร สูงเหนือผิวแปลง 2 เมตร หลุมละ 1 ค้าง ถ้าปลูกแตง 5 หลุมก็ใช้ 5 ค้าง แล้วใช้ไม้ค้างประเภทเดียวกันประกบส่วนปลายค้างให้ต่ำกว่าปลายค้าง 25 เซนติเมตร ให้ไม้ค้างที่ประกบขนานกับผิวพื้นที่วางถุงปลูก แล้วใช้ไม้ค้ำยันหัวท้ายข้างละ 2 อันไขว้ไม้ค้ำยันตรง

    บริเวณที่ไม้ประกบมัดติดกับปลายไม้ค้างส่วนบน ให้โคนไม้ค้ำยันห่างจากไม้ค้างที่ปักข้างละ 20 เซนติเมตร เพื่อใช้ยึดต้นพืชและกันการเคลื่อนไหวจากแรงลม และรับน้ำหนักเถาพืชที่ปลูกได้เต็มที่

     ควรเลือกเถาแขนงที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับเถาหลักไว้ แล้วตัดเถาที่มีขนาดเล็กทิ้งไป เพื่อไม่ให้มีการแย่งอาหารกันและป้องกันการเกิดโรคและแมลง เถาแขนงที่เลือกไว้จะผูกกับเชือกฟางพลาสติกที่ขึงตึงระหว่างไม้ค้างแต่ละค้าง ซึ่งจะขึงเป็นชั้น ๆ ห่างกันชั้นละ 30 เซนติเมตร ขึ้นไปตามความสูงของค้าง เมื่อพืชมีผลที่มีขนาดโตขึ้น เช่น ฟักทอง แตงไทย ฟักเขียว ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ให้ใช้เชือกฟางผูกที่ก้านผลแล้วโยงเชือกมาผูกไว้กับไม้ค้างที่ประกบไว้ด้านบนของค้าง เพื่อไม่ให้เถาพืชต้องรับน้ำหนักผลมากเกินไป

     พืชเหล่านี้ส่วนใหญ่เวลาไต่ขึ้นค้าง จะใช้เถาพันไม้ค้างในลักษณะเวียนไปทางขวา จึงควรช่วยเก็บเถาให้พันกับค้างในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ที่สำคัญการเลื้อยพันของพืชจะชอบพันค้างในแนวตั้งมากกว่าในแนวนอน ฉะนั้นผู้ปลูกจึงต้องช่วยจับให้การไต่เลื้อยเป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ โดยเฉพาะเมื่อพืชไต่เลื้อยขึ้นไปถึงบริเวณส่วนของค้างที่เป็นแนวขนานกับพื้นที่นำถุงปลูกวางไว้

     หมั่นตรวจเพื่อดูการเข้าทำลายของแมลงเมื่อพบสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดพ่นสารสกัดจากผลสะเดา หรือน้ำส้มควันไม้ โรคที่สำคัญของพืชไต่เลื้อยคือโรคราน้ำ ค้าง ราแป้ง โรคเหี่ยว โรครากเน่าโคนเน่า และแมลง ที่สำคัญ คือ ด้วงเต่าแตง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และแมลงวันทองหรือแมลงวันแตง เป็นต้น

     การให้ผลผลิตหากปลูกฟักทอง อายุประมาณ 80-90 วันหลังเมล็ดงอกจะให้ผลเก็บเกี่ยวได้ ฟักเขียวหรือแฟง อายุประมาณ 60-70 วันหลังเมล็ดงอกจะเก็บเกี่ยวได้ โดยสังเกตสีเปลือก สีกลมกลืนเป็นสีเดียวกันดูนวลขึ้นเต็มผล การเก็บควรเหลือขั้วติดไว้ด้วย เพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น สำหรับบวบ จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 40-45 วันหลังปลูก โดยเก็บผลที่มีขนาดพอเหมาะไม่อ่อนหรือแก่เกินไป โดยเก็บเกี่ยวให้มีขั้วบวบติดมากับผลด้วย

      และแตงกวาจะอยู่ที่อายุประมาณ 30-40 วันหลังปลูก จะมีผลผลิตให้ได้เก็บและควรเก็บขณะที่ผลยังอ่อน ซึ่งสังเกตได้จากมีนวลสีขาวเกาะและยังมีหนามอยู่บ้าง

ขอขอบคุณ : เดลินิวส์

แชร์