กรมศุลฯวางระบบไอที หวังเพิ่มการจัดเก็บรายได้

กรมศุลวางระบบไอทีรีดภาษี 144 รายการเข้มงวดชิปปิ้ง หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บหลังประเมินทั้งปีส่อเค้าวืดเป้า 6 พันล้านบาท หรือทำได้แค่ 1.14 แสนล้านบาท เตรียมชงรมว.คลังพิจารณานำร่องใช้กับสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย แฟชั่น ไวน์ เริ่มปลายเดือนกรกฎาคมนี้ http://winne.ws/n4935

915 ผู้เข้าชม
กรมศุลฯวางระบบไอที หวังเพิ่มการจัดเก็บรายได้


นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างวางระบบด้านเทคโนโลยีหรือไอทีให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี หลังจากที่การจัดเก็บรายได้ลดลงจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีรวม 2,400 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการจัดเก็บรายได้อื่นของกรมจะทำให้การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2559 (1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2559) ต่ำกว่าเป้า 6,000 ล้านบาท หรือราว 8-9% จากเป้าหมายทั้งปี 1.2 แสนล้านบาท หรือจะจัดเก็บได้เพียง 1.14 แสนล้านบาท

สำหรับระบบด้านไอที กรมศุลการได้ดำเนินการพัฒนาโมบาย แอพพลิเคชั่น เพื่อลดดุลพินิจเจ้าหน้าที่ผ่านการกำหนดราคาของสินค้า เพื่อบริหารความเสี่ยง และยังมีรายละเอียดสินค้าทั้งรูปร่าง แหล่งผลิต อัตราพิกัดภาษี โดยเตรียมเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณา เบื้องต้นจะใช้กับสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย แฟชั่น สินค้าเกษตร และรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงไวน์ รวม 144 รายการ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเภทสินค้าที่มีการนำเข้าเป็นจำนวนมาก คาดจะเริ่มใช้ได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ กับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ

นอกจากนี้จะเข้มงวดกับบริษัทตัวแทนนำเข้าสินค้า หรือชิปปิ้ง ที่แจ้งราคานำเข้าสินค้าไปยังบริษัทเจ้าของต่ำกว่าราคาจริง

เช่น แจ้งราคาไป 3 แสนบาท แต่ไปบอกกับเจ้าของ 1.5 ล้านบาท เพื่อที่จะยักยอกเงินไว้เอง โดยหลังจากนี้กรมศุลกากรจะต้องมีการแจ้งราคาไปยังเจ้าของโดยตรงด้วย และจะมีการตักเตือน ไปจนถึงขึ้นบัญชีดำไม่ให้ดำเนินการธุรกรรมนำเข้ากับกรม รวมถึงจะเตือนผู้นำเข้าที่ใช้บริการจากชิปปิ้งดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีชิปปิ้ง 1.2 หมื่นราย แต่มีการขึ้นทะเบียนกับสมาคมชิปปิ้งเพียง 3,000 ราย ซึ่งชิปปิ้งที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมจะดำเนินการธุรกรรมกับกรมศุลกากรผ่านออนไลน์ ไม่ได้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรโดยตรง ทำให้มีปัญหาเรื่องการสำแดงราคาไม่มากเหมือนกับชิปปิ้งที่ไม่ขึ้นทะเบียนกับทางสมาคม

“การเข้มงวดราคาสำแดงนำเข้าสินค้า ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน ที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะหากผู้นำเข้าสินค้าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ก็จะทำให้นโยบายการทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร

มีปัญหาตามไปด้วย” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศกล่าวว่า กรมศุลกากรยังอยู่ระหว่างประเมินผลการดำเนินการระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-Arrival Processing System) ที่จะลดเวลาการนำเข้าภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งใช้กับท่าเรือแหลมฉบังไปก่อนหน้านี้แล้ว หากสามารถดำเนินการ

ได้ดีในต้นปีงบประมาณ 2560 จะมีการขยายไปใช้กับสนามบินสุวรรณภูมิด้วยในการนำเข้าสินค้าขนส่งทางอากาศ

ขณะเดียวกันจะเร่งเรื่อง National Single Window (NSW) ที่ตอนนี้มีการเชื่อมข้อมูลร่วมกัน 36 หน่วยงาน แต่ยังไม่สามารถใช้ได้จริง ผู้นำเข้ายังต้องไปตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขออนุญาต ซึ่งจะต้องประสานกับหน่วยงานต่างๆ ว่าจะต้อง

พิจารณาอนุญาตการนำเข้าผ่าน NSW เมื่อผู้นำเข้าทำรายการที่กรมศุลกากรที่เดียวก็สามารถนำเข้าสินค้าได้ ทำให้เกิดความสะดวกลดต้นทุนในการดำเนินการ

ขอบคุณ, http://www.naewna.com/business/223994

 

แชร์